กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ย้ำมาตรการ Safeguard เป็นมาตรการสากลที่ WTO ให้การยอมรับ มั่นใจมีการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนประกาศใช้กับเหล็ก H-Beam เจืออัลลอย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
จากกรณีที่มีการนำเข้าเหล็ก H-Beam เจืออัลลอยเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งส่งผลกระทบให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีเป็นจำนวนมาก เพราะการนำเข้านั้นมีลักษณะเลี่ยงภาษี ขณะเดียวกันยังเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และยังส่งผลถึงชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคซึ่งหลายคนไม่ทราบว่าเหล็ก H-Beam เจืออัลลอยนั้นอยู่นอกมาตรฐาน มอก.1227-2558 ความเสียหายดังกล่าวทำให้ภาครัฐต้องประกาศใช้มาตรการ Safeguard เพื่อปกป้องการนำเข้าเหล็ก H-Beam เจืออัลลอย ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา
นายวันชัย วราวิทย์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า มาตรการ Safeguard เป็นมาตรการที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO ยอมรับให้ประเทศที่เปิดการค้าเสรีและมีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นสามารถออกมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งกฎการใช้มาตรการข้อแรกคือจะต้องมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมาก สองคือสินค้าที่นำเข้านั้นเข้ามาด้วยเหตุที่ไม่คาดเดามาก่อน สามคือการนำเข้านั้นจะทำให้อุตสาหกรรมภายในได้รับความเสียหาย ซึ่งการใช้มาตรการ Safeguard จะมีเงื่อนไขว่าอุตสาหกรรมภายในจะต้องมีแผนการปรับตัวด้วย เพราะ Safeguard เป็นมาตรการะยะสั้น เช่น 3 ปี หรือ 6 ปี วัตถุประสงค์ก็เพื่อวางกำแพงล้อมรั้วให้กับประเทศชั่วคราวเพื่อให้อุตสาหกรรมภายในของเราแข็งแกร่ง หากปรับตัวได้แล้วก็จะเอากำแพงนี้ออกแล้วเป็นการค้าเสรีต่อไป
นายวันชัย ยังได้กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาที่รอบคอบก่อนจะประกาศใช้มาตรการ Safeguard ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือแสดงหลักฐานว่ามีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจริง ต้องดูด้วยว่าการนำเข้านั้นเกิดจากสาเหตุใด อาจเป็นสาเหตุจากการคาดเดาไม่ได้ เช่น ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการกันมาก สินค้าเลยทะลักเข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องแจ้งมาว่าตนเองเสียหายอย่างไร และเสนอแผนการปรับตัวมาด้วย
"กระบวนการไต่สวนจะใช้เวลา 1 ปี โดยคำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งถือว่าเป็นประเด็นสำคัญมากเพราะการใช้มาตรการ Safeguard เป็นการปกป้องล้อมรั้วแต่เป็นการล้อมรั้วที่คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ ทั้งผู้ใช้ ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ที่มีความจำเป็นต้องใช้สินค้านั้น เพื่อลดผลกระทบกับให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เราจะดูว่าอุตสาหกรรมภายในสามารถผลิตสินค้านั้นได้หรือไม่ ถ้าผลิตไม่ได้ก็ต้องมีการยกเว้นให้สามารถนำสินค้าที่ใช้มาตรการปกป้องเข้ามาจำหน่ายได้ เป็นต้น" นายวันชัย กล่าว