กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส ประเมินผลโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย พบว่าผู้ประกอบการ SME เกษตรพอใจ ผันเงินสู่ชนบทเพิ่มงานในท้องถิ่น ขยายตลาดและพัฒนาสินค้าเกษตรให้ตอบโจทย์ตรงกลุ่มเป้าหมาย เดินหน้าต่อยอดโครงการฯเพื่อสร้างความยั่งยืนภาคเกษตรไทย
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เผย"ผลการประเมินโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย จากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ SME เกษตร จำนวน 466 รายทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรลูกค้ามีความพึงพอใจต่อการให้สินเชื่อของธนาคารอยู่ในระดับมาก โดยมีคะแนนความพึงพอใจในภาพรวม เฉลี่ย 3.82 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยมีความพึงพอใจอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปีสูงสุด เฉลี่ย 3.86 เช่นเดียวกับความพึงพอใจต่อการอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการ SME เกษตร ที่ ธ.ก.ส.จัดให้ สามารถนำความรู้ปรับใช้ในธุรกิจ โดยผู้ประกอบการ SME เกษตร ร้อยละ 99.57 มีความเห็นว่า ธ.ก.ส. ควรเดินหน้าโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตรต่อไป เพราะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนในระบบที่สนับสนุนการขยายธุรกิจส่งผลให้มีทุนหมุนเวียนสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นับเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร สร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ยกระดับผลิตภาพ (Productive Growth Engine) ให้ก้าวสู่ Thailand 4.0 และยุคเกษตรกรรม 4.0 ของประเทศไทยต่อไป"
นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า "ผลการดำเนินโครงการสินเชื่อ1ตำบล1SMEเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทยในปีบัญชี 2559 (ณ 31 มีนาคม 2560) ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อจำนวนเงิน 48,507.67 ล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการ SME เกษตร จำนวน 32,670 ราย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME เกษตร สามารถขยายกำลังการผลิต และนำเทคโนโลยี/นวัตกรรม/เครื่องมือใหม่ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 45.28 เป็นร้อยละ 92.06 ขยายช่องทางการตลาดส่งสินค้าขายต่างประเทศ บางรายพัฒนาช่องทางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า นอกจาก ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ย เพียงร้อยละ 4 ต่อปีแล้ว (ปีที่ 1-7) ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SME เกษตรมีความรู้ทางการเงิน(Financial literacy) ควบคู่กับเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการจัดทำและปิดบัญชี รวมทั้งพาไปศึกษาดูงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อประเมินความคุ้มค่าและประโยชน์ของโครงการดังกล่าวที่มีต่อลูกค้า ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม พบว่า มิติเศรษฐกิจ ลูกค้าเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้นสามารถเพิ่มเงินทุนทางธุรกิจ ลดต้นทุนโดยจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงจากเดิมร้อยละ 7เหลือเพียงร้อยละ 4 ต่อปี ส่วนมิติสังคม เกษตรกรได้รับการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการ SME เกษตรในกลุ่ม Startups และ Smart Enterprises ที่มีศักยภาพในอนาคต รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานในจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.50 ซึ่งโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายที่สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะนำพาประเทศไปสู่การเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" ดังนั้น เมื่อผลการตอบรับโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร ของผู้ประกอบการเป็นแนวทางที่ดี ธ.ก.ส.จะต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ภาคเกษตรต่อไปในปีบัญชี 2560"