กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วันนี้กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ค เปิดเผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปี 2559 โดยต่อเนื่องจากการจัดอันดับที่ได้นำเสนอครั้งแรกในปีที่ผ่านมา กรีนพีซได้ระดมพลังผู้คนลงชื่อ ออนไลน์เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษผนวกเอา PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) [1] ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่มีความแม่นยำในการระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และปกป้องตนเองจากมลพิษทางอากาศ
การจัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษ PM2.5 โดยพิจารณาตามค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานตลอดทั้งปี พ.ศ. 2559 พบว่า พื้นที่ที่มีมลพิษ PM 2.5 ห้าอันดับแรกคือ เชียงใหม่(อ.เมือง) ขอนแก่น(อ.เมือง) ลำปาง(แม่เมาะ)กรุงเทพฯ(ดินแดง) และสมุทรสาคร(อ.เมือง) ตามลำดับ [2][3]
นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "สิทธิในการอยู่ในอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5ไมครอน เป็นประเด็นเร่งด่วน และมีผลกระทบสูงโดยเฉพาะด้านสุขภาพ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5)ในพื้นที่เมือง ยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals) ที่ประเทศไทยยังอยู่ในระดับ "แย่" และไม่มีเป้าหมายในการรับมือ"
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งเป็นอนุภาคฝุ่นที่อันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม สารหนู และโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) เป็นต้น นั้นยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง [4] การวิเคราะห์ข้อมูล ล่าสุดใน State of Global Air ระบุว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในประเทศไทยประมาณ37,500 คน ในปี 2558 [5]
มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ มะเร็งปอด โรคระบบทางเดินหายใจรวมถึงโรคหอบหืด ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเดือนพฤษภาคม 2559 ระบุว่าประชาชนกว่าร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ในเมืองในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและต่ำ กำลังเผชิญคุณภาพอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัด คุณภาพอากาศ 19 แห่ง พบว่าในปี พ.ศ.2559 มีพื้นที่ 10 แห่ง มีความเข้มข้นของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดของประเทศไทย (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และพื้นที่ทั้ง 19 แห่งที่มีความเข้มข้น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา1 ปี ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
"ถือเป็นสัญญานที่ดีที่กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพิ่มขึ้นจากเดิม 12 สถานีเป็น 19สถานีในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ หากกรมควบคุมมลพิษยังไม่ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วน ด้านสุขภาพนี้และสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทำให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องสุขภาพของประชาชน" นางสาวจริยา เสนพงศ์ กล่าวสรุป
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่www.greenpeace.or.th