กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--อย.
ขยายขอบเขตการห้ามนำเข้าและจำหน่ายเนื้อวัวและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากวัวที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้าเพิ่มอีก ๕ ประเทศ ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ เดนมาร์ก สเปน และอิตาลี ขณะนี้จัดทำเป็นร่างประกาศฯเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามแล้ว คาดว่าจะมีผลใช้บังคับต้นสัปดาห์หน้า
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)แถลงว่า อย.ได้เชิญประชุมผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กรมยุโรป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมการค้าต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะมีข้อมูลการระบาด การเฝ้าระวังและมาตรการการควบคุมของประเทศต่าง ๆ ซึ่งพบว่าประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) บางประเทศมีแนวโน้มกรณีโรควัวบ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าที่อียูคาดคิด นอกจากนี้ เนื่องจากอียูประกอบด้วยหลายประเทศ ทำให้การเฝ้าระวังของแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคชาวไทย ที่ประชุมจึงมีมติว่า ควรขยายขอบเขตการห้ามนำเข้าและจำหน่ายเนื้อโคสดและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคเพิ่มขึ้นอีก ๕ ประเทศในอียู ที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) มีรายงานว่าพบโรควัวบ้าเกิดขึ้น ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก ลิกเตนสไตน์ เดนมาร์ก สเปน และอิตาลี ซึ่ง อย.ได้จัดทำร่างประกาศฯเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ราวต้นสัปดาห์หน้า ก่อนหน้านี้ อย.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๑๙๒ พ.ศ. ๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย โดยห้ามนำเข้าเนื้อโคสดและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโคที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศที่มีความเสี่ยงจากการเกิดโรควัวบ้า จำนวน ๘ ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร โปรตุเกส ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และเบลเยี่ยม ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๓ สำหรับประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจาก ๑๓ ประเทศดังกล่าว อย.จะได้ติดตามข้อมูล รวมทั้งตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยหน่วยงานที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ ตกลงกันว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาและประมวลข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรควัวบ้า ทุก ๒ สัปดาห์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย “ได้รับแจ้งเบาะแสว่า ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งมีการนำซุปวัวเข้มข้นที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษมาจำหน่าย ซึ่งไทยห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ ถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษปรับ ๕,๐๐๐—-๑๐,๐๐๐ บาท จำคุก ๑-๒ ปี ซึ่งหลังดำเนินการจะแถลงข่าวให้ทราบว่า เป็นห้างใด “น.พ.วิชัย กล่าว เลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข่าวจากรอยเตอร์ทางหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งระบุว่า ประเทศไทยจะเป็นเหยื่อระลอกต่อไปของโรควัวบ้า เนื่องจากเคยนำเข้าอาหารสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อโรควัวบ้าจากอังกฤษ ในช่วงที่โรคนี้กำลังระบาดนั้น ทาง อย. ได้ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว คาดว่า ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจาก อย.ได้รับข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งดูแลการนำเข้าอาหารสัตว์ ปรากฏว่า เคยมีการนำเข้ากระดูกสัตว์ป่นสำหรับผลิตอาหารสัตว์จากประเทศอังกฤษเพียงครั้งเดียว และนานกว่า ๑๐ ปีแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มิได้มีอาการของโรควัวบ้าเกิดขึ้น ที่สำคัญ ประเทศไทยรวมทั้งประเทศในเอเชียมิได้ใช้กระดูกสัตว์ รวมทั้งเครื่องใน มาใช้เลี้ยงสัตว์ (ยกเว้นปลาป่น) โดยไทยใช้หญ้า รำข้าว ปลาป่น กากถั่ว ซางข้าวโพด ซึ่งมีปริมาณอยู่มากในภูมิภาคนี้และราคาถูกกว่า ซึ่งจะต่างจากประเทศทางตะวันตก ยืนยันว่า เนื้อวัวที่ผลิตในประเทศไทยยังมีความปลอดภัย สามารถรับประทานได้--จบ--
-สส-