กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
"ไอศกรีมนมมะรุม"ไอเดียเมนูของหวานถูกคอคนรักไอศกรีมที่รักสุขภาพ ผลงานของนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นางสาวจีรนันทน์ สุขเกษม และนางสาวณัฐฑิฌา คเชนทรพรรค โดยมี ดร.นวพร ลาภส่งผล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
โดย ดร.นวพร ลาภส่งผล เล่าว่า มะรุมเป็นพืชที่มีประโยชน์ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งใบ ฝัก และเมล็ด ซึ่งเป็นแหล่งของสารพฤษเคมีที่สำคัญและมีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ในอาหารสุขภาพเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมะรุม นอกจากมะรุมจะมีคุณค่าทางโภชนาการที่มากแล้วยังเป็นที่รู้กันว่ามีสารสำคัญจากธรรมชาติโดยเฉพาะสารประกอบในกลุ่มฟีนอลิก ซึ่งมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพเช่น มีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เป็นต้น ดังนั้นการนำมะรุมมาเป็นส่วนประกอบเพื่อพัฒนาเป็นไอศกรีมนมเพื่อสุขภาพ จึงน่าจะเป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับผลิตภัณฑ์ไอศกรีมเมื่อเทียบกับไอศกรีมนมทั่วไป
จากงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสูตรที่เหมาะสมในการผลิตไอศกรีมนมเสริมมะรุมผง เริ่มจากการนำมะรุมมาแยกออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ เปลือก เนื้อ และเมล็ด นำไปอบแห้งที่ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำมาอบและร่อนจนละเอียด นำผงต่างๆที่ได้ไปเสริมในไอศรีมนมในปริมาณที่แตกต่างกันเปรียบเทียบกับไอศกรีมนมสูตรมาตรฐานที่ไม่มีการเสริมผงจากมะรุม จากผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบปริมาณฟีนอลิก และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ของไอศกรีมนมทุกสูตรพบว่า ไอศกรีมนมที่มีการเสริมเนื้อมะรุม 2% มีปริมาณฟีนอลิกและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด โดยพบว่าสูตรดังกล่าวมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระมากว่าไอศกรีมนมสูตรมาตรฐานทั่วไปถึง 70 เท่า นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ พบว่าไอศกรีมนมที่มีการเสริมเนื้อมะรุม 2% ส่งผลให้ไอศกรีมมีสีเหลืองอ่อนๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีสัน ดูน่ารับประทานมากขึ้น มีค่าการขึ้นฟูมากขึ้น และอัตราการละลายช้าลงซึ่งส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ไอศกรีม และการประเมินความชอบของผลิตภัณฑ์จากผู้ทดสอบทั่วไป พบว่ามีการยอมรับผลิตภัณฑ์ด้านความชอบโดยรวมที่ไม่แตกต่างจากไอศกรีมนมสูตรมาตรฐานทั่วไป
ผลจากงานวิจัยจึงสามารถสรุปได้ว่าเนื้อมะรุมผงจึงมีศักยภาพในการเสริมในไอศกรีมนมปริมาณ 2% โดยไม่มีผลกระทบต่อความชอบโดยรวม และยังสามารถเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติได้สูงอีกด้วย รวมทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชผักท้องถิ่นและสามารถเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น