กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำโครงงาน "ออกแบบลวดลายและพัฒนารูปแบบเครื่องนุ่งห่มจากผ้าไหมอีรี่" โดยชูความโดดเด่นด้านทุนทางวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือลวดลายผ้าไหมอีรี่ที่เป็นเอกลักษณ์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อคลุม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคใหม่ เพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมอีรี่ของชุมชนหนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น กระทั่งสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขัน กล้าใหม่สร้างชุมชน โครงการ กล้าใหม่ใฝ่รู้ ปี 11 จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้สำเร็จ
อาจารย์ ชวนะพล น่วมสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในฐานะที่ปรึกษาโครงการว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนโยบายด้านการผลิตบัณฑิตอันพึงประสงค์ต่อสังคมตามยุทธศาสตร์ Creative Economy and Society เป็นองค์กรที่สร้างองค์ความรู้ตามพันธกิจสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงสร้างสรรค์ มุ่งสร้างบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสมัยใหม่โดยคำนึงถึงทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งนอกจาการเรียนการสอนในห้องเรียนแล้วจำเป็นต้องมีเวทีให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมานักศึกษาของเราสามารถคว้ารางวัลกล้าใหม่ใฝ่รู้ได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายปีนำความภาคภูมิใจมาสู่มหาวิทยาลัยฯเป็นอย่างมาก
"นักศึกษาได้ร่วมมือกันทำโครงงานส่งเสริมและพัฒนาชาวบ้านให้มีทักษะด้านการออกแบบที่ทันสมัย การตัดเย็บเสื้อผ้า ความรู้ด้านการใช้สี ความรู้ด้านประชาสัมพันธ์สินค้าโดยใช้ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อมุ่งหวังให้ชุมชนสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้นักศึกษาได้ทำสำเร็จ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้าน ตามความประสงค์ของโครงการแล้ว"
นาวสาววีรินทร์ สันติวรรักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการทอผ้าลายดั้งเดิมซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปเทรนด์แฟชั่นโลกก็เปลี่ยนไปด้วย เราจึงเข้าไปให้ความรู้ด้านลายผ้าที่ตอบโจทย์ สอนการตัดเย็บ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามต้องการของตลาด จุดเด่นข้อนี้จึงทำให้สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง นอกเหนือจากรางวัลที่ได้รับ เวทีนี้ทำให้เราได้ประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน
"ระหว่างที่ทำโครงการร่วมกับชาวบ้านเรามีความสุขร่วมกัน รู้สึกว่าชาวบ้านเขามีความสุขที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เขา และสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ เราเองก็พลอยมีความสุขด้วย การร่วมโครงการนี้ทำให้เราได้ฝึกฝนตนเอง ฝึกกระบวนการคิด แบ่งเวลาเป็น และเป็นแบบอย่างให้น้องๆรุ่นหลังได้รู้ว่าตัวเราเองก็สามารถสร้างประโยชน์แก่ชุมชนที่เราอาศัยอยู่ได้ เพียงแค่คิดเริ่มต้น ก้าวออกจากความกลัว และลงมือทำ"