กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สสว.
สสว. จับมือ SME ไทย 34 ราย ร่วมงาน "Thai Trade Exhibition Oman 2017" ปลื้มกระแสตอบรับดี สร้างยอดขายและเจรจาธุรกิจได้ 353 ล้านบาท
นางชไมพร เจือเจริญ ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong /Regular Level) จำนวน 34 ราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในงาน "Thai Trade Exhibition Oman 2017" ระหว่างวันที่ 8-15 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงมัสกัต รัฐสุลต่านโอมาน ซึ่งมี ฯพณฯ โมฮัมเหม็ด บิน ยูเซฟ อัล ซาราฟิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของโอมาน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และมีผู้เข้าชมงานกว่า 22,000 คน ตลอดช่วง 5 วันที่ผ่านมา
สสว. ได้นำผู้ประกอบการร่วมงานจำนวน 34 บูธ สามารถสร้างยอดขายและเจรจาธุรกิจทั้งสิ้น 353 ล้านบาท ทำให้ตลอดทั้งงานมีเงินสะพัดมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีภาคเอกชนไทยร่วมงานทั้งสิ้น 100 บริษัท เทียบกับปีก่อนที่มี 85 บริษัท สามารถสร้างรายได้ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,050 ล้านบาท) และมีจำนวนผู้เข้าชมงาน 20,000 คน
"สสว. นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน Thai Trade Exhibition Oman 2017 ณ กรุงมัสกัต นับเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งนี้กระแสดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงเชื่อว่ามูลค่าที่เกิดจากการเจรจาซื้อขาย ในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและโอมานเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี 2565 ตามนโยบายรัฐบาล โดยในปี 2559 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับโอมานอยู่ที่ 671.11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท" นางชไมพร กล่าว
สำหรับงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Health and Wellness" ชูจุดเด่นสินค้าและบริการของไทย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ โรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ หัตถกรรมและของใช้ภายในบ้าน รวมถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา ส่วนสินค้าของ SMEs ไทย ที่ได้ความนิยมจากผู้บริโภคชาวโอมาน ได้แก่ กลุ่มเครื่องสำอาง หมอนยางพารา ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สำหรับของใช้ในเครัวเรือนและสำนักงาน เครื่องดื่มสมุนไพร อาหารประเภทขนมเค้กสอดไส้ต่างๆ สินค้าตกแต่งประเภทไม้แกะสลัก ตลอดจนไม้หอมประเภทไม้กฤษณาและน้ำมันกฤษณา
นางชไมพร กล่าวต่อว่า จุดเด่นทางเศรษฐกิจของโอมานอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA (Free Trade Area) โอมานกับสหรัฐฯ ได้ โดยความตกลงฯ นี้จะทำให้ประเทศอื่น ๆ สามารถใช้โอมานเป็นตัวเชื่อม (springboard) ในการดำเนินธุรกิจไปยังสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นโอกาสของนักลงทุนหรือผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการธุรกิจโอมานเพื่อผลิตสินค้าหรือแปรรูปสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ
นอกจากนี้ โอมานยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือ และสนามบินแห่งใหม่ เมื่อโครงการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์จะผลักดันให้โอมานกลายเป็นประตูการค้าให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าสู่ตลาดประเทศอื่นในกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ GCC และประเทศใกล้เคียงได้อีกด้วย