กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--กรมสุขภาพจิต
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความเจ็บป่วยทางใจเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่จะบอกหรือเล่าให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจได้ยาก ต่างกับการเจ็บป่วยทางกาย ที่สามารถบอกอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้ เมื่อตนเองไม่รู้ก็ไม่สามารถบอกหรือสอนคนในครอบครัวให้ตระหนักและเข้าใจในการดูแลสุขภาพจิตที่ดีได้ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชตามมา กรมสุขภาพจิต ได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดเป็นนโยบาย ว่าด้วยการสร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิตให้กับประชาชน โดยผ่านกลไกการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต (Mental Health Literacy) ให้เกิดขึ้น และหนึ่งในนั้น คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญของระบบสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้มอบหมายศูนย์สุขภาพจิตที่ 1-12 ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเชี่ยวชาญสาขาสุขภาพจิตชุมชน ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกจะเน้นการพัฒนาศักยภาพ ด้วยการจัดโปรแกรมให้ความรู้และการฝึกอบรมแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ตลอดจนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี เป็นโมเดลหรือแบบอย่างให้กับเพื่อนร่วมชุมชนได้ โดย ในปี 2560 นี้ ได้กำหนดพื้นที่ตำบลนำร่องที่มีความพร้อมในทุกอำเภอทั่วประเทศ จำนวน 878 อำเภอๆ ละ 2 ตำบลๆ ละ 1 คน รวม 1,756 คน ดำเนินการอบรมให้เสร็จสิ้น ภายในระยะเวลา 2 เดือน (พ.ค.- มิ.ย.2560) นำร่องรุ่นแรก เขตสุขภาพที่ 7 กลุ่ม อสม. จังหวัดขอนแก่น และมหาสารคาม หลักสูตรการอบรมใช้ระยะเวลา 14 ชั่วโมง ใน 2 วัน 1 คืน เนื้อหา ประกอบด้วย บทบาท อสม. เชี่ยวชาญสาขาสุขภาพจิตชุมชน การให้คำปรึกษาเบื้องต้น พัฒนาการเด็กและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี การดูแลสุขภาพจิตวัยเรียน การดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น การดูแลสุขภาพจิตวัยทำงาน การดูแลสุขภาพจิตวัยสูงอายุ การดูแลจิตใจเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติ และการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนเพื่อชุมชนสุขภาพจิตดี ส่วนปีที่สองจะเน้นการพัฒนาชุมชน ให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามบริบทของแต่ละชุมชนได้เองเพื่อนำไปสู่รูปแบบการดำเนินชีวิตหรือนวัตกรรมด้านสุขภาพจิตของชุมชนโดยชุมชน และในปีสุดท้าย จะเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และการขยายผลข้ามตำบลให้เกิดความครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพจิต ตลอดจนเกิดระบบการดูแลสุขภาพจิตของชุมชนโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
"ปัญหาสุขภาพจิต เป็นเรื่องใกล้ตัว การยกระดับ อสม. ด้วยการติดอาวุธความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับพวกเขา จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ ที่จะช่วยส่งต่อความรู้ คำแนะนำ คำปรึกษา ทักษะ และพฤติกรรมการมีสุขภาพจิตที่ดีให้กับประชาชน ทุกกลุ่มวัยตามบริบทของแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การลดจำนวนผู้เจ็บป่วยทางใจ ประชาชนและชุมชนสามารถที่จะดูแลใจกันและกันและไม่ทอดทิ้งกัน ตลอดจนเกิดระบบการดูแลสุขภาพจิตของชุมชนโดยชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว