กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--workit
ในสภาพสังคมที่มีสิ่งเร้าหรือภาวะเสี่ยงรอบตัวอย่างในปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่คงจะมีความกังวลในการเลี้ยงลูก ๆ ให้พวกเขาเติบโตไปเป็นคนดี มีคุณภาพ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข หลายครอบครัวเกิดคำถามว่าควรเลี้ยงลูกอย่างไรถึงจะดีหรือเหมาะสมที่สุด และต่างศึกษาหาความรู้ข้อมูลหรือเคล็ดลับใหม่ๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องและเหมาะสม
รวมไปถึง "เทคนิคการเลี้ยงลูกแบบ 5 L" ที่เป็นแนวทางที่ใครหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก แต่ล่าสุด ในกิจกรรม "สิ่งเล็ก ๆ ที่สร้างลูก ตอน เทคนิคการเลี้ยงลูกแบบ 5 L" ภายใต้โครงการ SOOK Activity โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้หยิบยกเอาเรื่องนี้มาเป็นแนวทางหนึ่งให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มาร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างแรงกระตุ้นให้พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็ก โดยพัฒนามาจากองค์ความรู้ที่สามารถ ปฏิบัติได้จริง
เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงความสำคัญ และเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ปกครองแต่ละท่านในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็ก โดยพัฒนาองค์ความรู้ทั้ง 4 มิติ อันได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญา ผ่านการสัมผัสประสบการณ์ที่สามารถปฏิบัติได้จริงทุกมิติ สิ่งที่พ่อแม่ สิ่งที่ผู้ปกครองจะได้รับจากกิจกรรม คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการ ความคิดสร้างสรรค์และเสริมสร้างทักษะชีวิต เรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงลูก รวมไปถึงเคล็ดลับ และวิธีการดี ๆ จากผู้เชี่ยวชาญให้สามารถเลือกนำไปปรับใช้หรือต่อยอดได้จริงอย่างเหมาะสมกับแต่ละครอบครัว
ด้านผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ข้อมูลกับคุณพ่อคุณแม่ อย่าง แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" กล่าวว่า ในช่วง 6 ปีแรก ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด เด็กจะมีพัฒนาการและการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา วิธีการที่พ่อแม่ใช้เลี้ยงดูลูกจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีส่วนสำคัญในการกำหนดศักยภาพ ลักษณะนิสัยของลูกๆ และความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก
"เด็กไม่ใช่แค่ผ้าขาว พ่อแม่ที่ดีจึงไม่ใช่คิดแต่จะแต้มสี แต่ต้องดูว่าผ้านั้นเป็นผ้าประเภทใด ใช้สีแบบไหนถึงจะแต้มลงไปแล้วเหมาะกับเนื้อผ้า เด็กทุกคนควรถูกเลี้ยงดูด้วยความเข้าใจ ได้รับความเคารพ การยอมรับ การชี้แนะและคอยให้กำลังใจ มากกว่าการควบคุม ลงโทษ สังคมไทยมักเลี้ยงดูด้วยการใช้วิธีการดุด่า ลงโทษ ซึ่งเป็นการทำลายความนับถือตัวเองของเด็ก ทำให้เด็กไม่มีความมั่นใจ ส่งผลต่อการเติบโตของเด็กในระยะยาว การเลี้ยงลูกเชิงบวกจึงเป็นวิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก โดยได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่าได้ผลที่ดีกว่าเลี้ยงลูกเชิงลบ ส่งผลให้เด็กมีคุณภาพมีสัมพันธภาพที่ดีในชีวิตมากกว่า"
แพทย์หญิงจิราภรณ์ แนะถึงหลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกว่า ควรคำนึงถึงหลัก 5 L ซึ่งเริ่มต้นจากข้อแรกคือ "Love" ความรัก ฟังดูเหมือนง่าย แต่กลายเป็นปัญหาของเด็กมากที่สุด เพราะพ่อแม่มักมีปัญหากับการแสดงความรักต่อลูก การทำงานหาเงินเลี้ยงลูก ไม่ใช่การที่แสดงว่ารักลูก แต่คือหน้าที่ของพ่อแม่ เด็กไม่รู้สึกถึงการได้รับความรัก หรือการแสดงความรักในแบบผิด ๆ อย่างการควบคุม ซึ่งเด็กอาจจะรับรู้ได้ว่าเป็นความรักแต่อึดอัด ธรรมชาติของเด็กจะรับรู้ความรักผ่านการให้เวลากับเขา เล่นกับเขา หอม กอด หลายครอบครัวพ่อแม่กลับถึงบ้านก็วุ่นอยู่หน้าจอ เล่นโทรศัพท์ ให้ระวังสิ่งเหล่านี้ ควรทำกิจกรรมด้วยกัน สำรวจตัวเองว่าให้เวลากับลูกพอหรือยัง อย่าจ้องแต่ปรับพฤติกรรม สร้างวินัยให้ลูกเพียงอย่างเดียว
"ข้อ 2 คือ "Learn" หรือการพาเรียนรู้ ฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ คิดวิเคราะห์เป็น และลงมือทำ ซึ่งจะส่งผลให้ Executive Functions (กระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ) ทำงานได้เป็นอย่างดี โดยสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้จากการเล่น โดยเฉพาะ การเล่นแบบอิสระ (Free Play) จะช่วยพัฒนาสมองส่วนหน้า เสริมสร้างจินตนาการ เช่น ปั้นดินน้ำมัน เล่นดนตรี กีฬา ก็เป็นการฝึกพัฒนาการเด็กได้เป็นอย่างดี ฝึกการโฟกัส ฝึกความพยายาม ฝึกการวางแผนคิดวิเคราะห์ ฝึกการอดทนรอคอย ฝึกการระมัดระวัง นอกจากนี้ก็ยังสามารถเรียนรู้ผ่านการอ่าน หรือจะเรียนรู้ผ่านการทำงานบ้านก็ได้ เช่น การกวาดบ้าน เด็กจะได้ฝึกคิดว่าจะกวาดตรงไหนก่อน ได้ฝึกความอดทน เพราะเป็นงานน่าเบื่อ ฝึกการโฟกัสฝึกความจำว่ากวาดตรงไหนไปแล้วบ้าง เรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยว ช่วยฝึกวางแผนแก้ปัญหา เช่น ให้ดูแลตั๋วของตนเอง หากตั๋วหายต้องทำอย่างไร ฝึกความระมัดระวังให้กับเด็ก เป็นต้น
ข้อที่ 3 คือ "Limit" ตั้งกติกา พ่อแม่ต้องสร้างกติกา ฝึกวินัยเชิงบวก โดยไม่ขู่ให้กลัว บังคับ หรือใช้กำลัง การที่ฝึกวินัยเชิงลบ ฝึกแบบเข้มงวด ใช้กำลังเข้าข่ม บ่นด่า เป็นวินัยที่เกิดจากความกลัว วินัยแบบนี้จะทำลายสัมพันธภาพของลูกกับพ่อแม่ ใช้ฝึกวินัยได้ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าเด็กก้าวข้ามความกลัว วินัยก็จะหายไป ควรฝึกวินัยลูกด้วยการกระทำ พ่อแม่ต้องไม่อารมณ์ฉุนเฉียว ฝึกวินัยให้ลูกควบคุมตัวเองจากภายใน การฝึกวินัยแบบนี้ลูกจะเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องทำตามวินัย และวินัยก็จะอยู่กับเขาตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น ให้ทางเลือก ทำให้เขามีตัวตน ควรฝึกตั้งคำถามเก่งๆ เช่น เปลี่ยนจาก จะเก็บของเล่นหรือไม่เก็บ เป็นจะเก็บของเล่นเองหรือให้แม่ช่วย สร้างข้อตกลง ถ้าเล่นแล้วเลิกเมื่อไหร่ ถ้าไม่เลิกเกิดอะไรขึ้น เช่น ถ้าหมดเวลาเล่นแล้วไม่เลิกเล่น พรุ่งนี้งดเล่น 1 วัน ฝึกให้เรียนรู้ผลตามธรรมชาติ เช่น ฝึกให้ทานข้าว มีเวลา 30 นาที ทานก็ได้ไม่ทานก็ได้ แต่หากหมดเวลาแล้วก็จะไม่มีอะไรให้ทาน เด็กจะได้เรียนรู้ถ้าไม่ทานก็จะหิว ต่อไปเขาก็ทานตามเวลา ฝึกให้รับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ทำน้ำหก ต้องหาผ้ามาเช็ดเอง เป็นต้น
ส่วน L ที่ 4 คือ "Let them grow" การให้อิสระภาพ เป็นสิ่งสำคัญนอกจากการให้ความรักและการสร้างวินัย การให้อิสรภาพ ไม่ใช่การปล่อยปละละเลย แต่คือการปล่อยมือในบางครั้งเพื่อให้เด็กได้มีก้าวย่างของตัวเอง ปล่อยให้ล้มบ้าง เพื่อเรียนรู้ที่จะลุก และเมื่อเด็กนำปัญหามาเล่าให้ฟัง อย่าฟังเพื่อสั่งสอนอย่างเดียว เด็กแค่ต้องการผู้รับฟัง เพราะผู้ใหญ่ไม่ค่อยฟัง จ้องแต่จะสอน เด็กเลยไม่ค่อยเล่าอะไรให้ผู้ใหญ่ฟัง ควรรับฟังเขาด้วยหัวใจ ต้อนรับอารมณ์ทุกด้านของลูกเสมอ การเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดของเด็ก คือการเรียนรู้จากความผิดพลาด
"L ข้อสุดท้าย คือ Let it be ปล่อยวาง ให้เข้าใจว่าลูกไม่ใช่ของเรา ควรปล่อยให้เขามีชีวิตของตัวเอง เป็นหลักการที่พ่อแม่ต้องบอกตัวเอง เราช่วยเหลือทำให้เขาเติบโต ไม่ใช่ควบคุม การเติบโตของคนเหมือนปลูกต้นไม้ ต้นไม้มีเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง ไม่ใช่รดน้ำใส่ปุ๋ยแล้วจะดีเลย ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์ที่ติดมาตั้งแต่แรก และสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่างที่ต่างก็มีผลต่อการเติบโต ดังนั้นนอกจากพ่อแม่แล้ว ทุกคนในสังคมก็ต้องช่วยกันทำให้สังคมมีพื้นที่ที่ดี ปลอดภัยกับเด็กด้วย" แพทย์หญิงจิราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
เป็นอีกแนวทางที่คุณพ่อคุณแม่จะลองนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงดูลูก ๆ ได้อีกวิธีหนึ่ง ส่วนผู้ที่สนใจ กิจกรรมดี ๆ ดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมอื่น ๆ ของโครงการ SOOK Activity และดูข้อมูลองค์ความรู้จากกิจกรรมที่ผ่านมาได้ทาง www.thaihealth.or.th/sook , www.facebook.com/sookcenter สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 081-731-8270