กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ซินคัมปานี
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดยโสธร ร่วมสนับสนุน สหกรณ์กรีนเนท เปลี่ยนของเสียจากกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นพลังงานทดแทน ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 30,524 หน่วย ต่อปี คิดเป็นเงินกว่า 1 แสนบาทต่อปี ช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมจากการเผาทิ้ง สร้างชุมชนสีเขียว
จังหวัดยโสธร-วันนี้ (24 พฤษภาคม 2560) นายธนกร สอนอาจ พลังงานจังหวัดยโสธร กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชน หรือ Community ESCO Fund ซึ่งเป็นโครงการภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านพลังงานทดแทน ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมตัดสินใจ ตลอดจนเป็นเจ้าของพลังงานทดแทนที่นำทรัพยากรและสิ่งเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแปลงเป็นพลังงานเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนยกระดับเศรษฐกิจชุมชนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน คู่ขนานไปกับการสร้างชุมชนสีเขียว
สำหรับในพื้นที่จังหวัดยโยธร มีโครงการความร่วมมือที่กระทรวงพลังงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการพลังงานทดแทนให้สอดรับกับอาชีพของชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้โครงการ Community ESCO Fund ซึ่งก็คือโครงการเปลี่ยนของเสียจากกระบวนการผลิตเป็นแหล่งพลังงานในโรงงานแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์และชาสมุนไพร สหกรณ์กรีนเนท ตำบลแคนน้อย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร โดยดำเนินการในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชน ด้วยงบประมาณ 880,807 บาท โดยกระทรวงพลังงานสนับสนุนงบประมาณ 264,242 บาท หรือคิดเป็น 30% ของมูลค่าโครงการ ส่วนสหกรณ์กรีนเนทลงทุนเอง จำนวน 616,565 บาทหรือคิดเป็น 70% ของมูลค่าโครงการ เพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลผลิตให้มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
พลังงานจังหวัดยโสธร กล่าวต่อว่า จากเดิมกลุ่มสหกรณ์กรีนเนท มีการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าและก๊าซ LPG (ก๊าซหุงต้ม)ในการผลิตความร้อนเพื่อใช้ในกระบวนการนึ่งและอบ ผลิตภัณฑ์เมล็ดมะม่วงหิมพานต์และชาสมุนไพรเป็นหลัก ซึ่งทำให้มีภาระเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง ที่สำคัญยังประสบปัญหาเรื่องการกำจัดเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาชุมชนได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเผาทิ้งทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน แต่ภายหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงเทคโนโลยี โดยนำเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่มีอยู่มาใช้เป็นพลังงานทดแทนทำให้กลุ่มสหกรณ์กรีนเนทสามารถประหยัดพลังงานเทียบเท่าพลังงานไฟฟ้าได้จำนวน 30,524 หน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่าประหยัดได้ 113,245 บาทต่อปี ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมจากการเผาทิ้ง พร้อมสร้างชุมชนสีเขียวได้อีกด้วย