กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้เปิดตัว Agri-Map Online ไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อตอบรับนโยบายTHAILAND 4.0 โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NECTEC สวทช.) โดยใช้เทคโนโลยี What 2 Grow บูรณาการข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ปัจจุบันได้พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ในระบบโมบาย (Agri-Map Mobile) เพื่อสามารถไปใช้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพิ่มความสะดวก และรวดเร็วให้กับผู้ใช้งาน สามารถตอบสนองการใช้งานในพื้นที่ โดยให้บริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่สถานการณ์ปัจจุบัน และช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกระบบโมบายสามารถให้บริการข้อมูลเชิงพื้นที่ (แผนที่) ที่ทันสมัย ถูกต้อง สามารถใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลให้เป็นระบบแผนที่เกษตรที่มีคุณภาพ ทันสมัย ถูกต้อง สะดวกรวดเร็ว ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาไปสู่การเป็น SMAET OFFICER และ SMART FARMER มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกษตรกร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ ส่งผลให้เกษตรกรรมมีความยั่งยืน โดยเครื่องมือดังกล่าว ประกอบด้วย ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต (ดิน น้ำ พืช) ข้อมูลด้านการตลาด ข้อมูลเกษตรกร และเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา (Adaptive Data) ซึ่งนักบริหารในพื้นที่สามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนด้านการผลิตสินค้าเกษตรภายในพื้นที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพความเหมาะสมของปัจจัยการผลิตและการตลาดในพื้นที่ได้อย่างดี
ทั้งนี้ การใช้งานในระยะแรกใช้งานได้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบแอนดรอยด์ สามารถดูรายละเอียดพื้นที่ที่ทำการเกษตรของตนเองได้ว่าอยู่ในดินที่มีปัญหาหรือไม่ มีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใด มีแหล่งรับซื้อผลิตผลชนิดใดที่อยู่ใกล้พื้นที่ของตนเอง เส้นทางไปยังแหล่งรับซื้อ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ (Zoning) โดยส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจได้ตามความเหมาะสมทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และอื่น ๆ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตทางการเกษตร