กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2560 อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันนี้ 16 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560 พร้อมกับวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี พ.ศ. 2560 ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานทั่วประเทศ โดยให้สอดคล้องกับนโยบายการผลิตข้าวครบวงจร 15.95 ล้านไร่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึง การบริหารจัดการน้ำและการวางแผนปลูกพืชฤดูฝน ปี 2560 ในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ 7.6 ล้านไร่ ว่า ได้ปรับปฏิทินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้ทำนาปีให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 31 ก.ค. 60 เพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลาก และจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำนี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ/รับน้ำนองในช่วงเดือนสิงหาคมได้ประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งตรงกับความต้องการ และได้รับผลตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี ปัจจุบันเพาะปลูกไปแล้วเต็มพื้นที่ อีกทั้งปรับปฏิทินการส่งน้ำเพื่อทำนาปีให้เร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 1.15 ล้านไร่ โดยเริ่มส่งน้ำให้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 60 เป็นต้นมา เพื่อเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม หลีกเลี่ยงน้ำหลากในเดือนกันยายนของทุกปี เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จแล้ว จะใช้เป็นพื้นที่ตัดยอดน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงที่เกิดน้ำหลาก โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่เป้าหมายที่วางไว้ สำหรับพื้นที่ดอน 6.19 ล้านไร่ ได้เริ่มส่งน้ำให้ทำการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 60 ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 700,000 ไร่นอกจากนี้ พื้นที่โครงการชลประทานอื่น ๆ รวมทั้งลุ่มน้ำแม่กลอง และพื้นที่นอกเขตชลประทานทั่วประเทศ เริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติแล้วเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันมี 4 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.นครสวรรค์ และ จ.สกลนคร สาเหตุเกิดจากฝนที่ตกหนัก เป็นผลมาจากความกดอากาศต่ำ โดยเกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เกษตรกรรม และบ้านเรือน ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เน้นย้ำการเตรียมความพร้อม โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจระบบระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนประตูระบายน้ำต่าง ๆ อีกทั้ง กรมชลประทานยังเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถขุด ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยได้นำเครื่องจักร – เครื่องมือ มาประเมินสถานการณ์ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 2,193 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 262 เครื่อง รถขุด 366 คัน เป็นต้น ส่งให้ในพื้นที่ทั้ง 4 ภาคภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ เรียบร้อยแล้ว ตลอดจนขอให้ประชาชนมั่นใจว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้มีความพร้อมรับน้ำที่จะมาถึง เนื่องจากผลการทำงานในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีประสิทธิภาพ มีพื้นที่รองรับน้ำถึง 2,000 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการพัฒนาระบบระบายน้ำต่าง ๆ สามารถระบายน้ำออกไปสู่ทะเลได้ไว