เด็ก ม. 5 คว้าชัยในงาน Short (no) Film Festival II

ข่าวทั่วไป Tuesday November 1, 2005 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
กลายเป็นที่อือฮาและน่าจับตามองเมื่อ สุกฤษ ตันติสุวิทย์กุล เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 โรงเรียน สวนกุหลาบวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ ท่ามกลางคู่แข่งที่เรียกว่าระดับรุ่นพี่ ที่มีความสามารถไม่แพ้กัน ของโครงการ Short (no) Film Festival Chapter II Sharper too ตอน Life is a Movie ที่บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด จัดขึ้นเพื่อเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่มีความสนใจในศิลปะภาพยนตร์ ได้นำความรู้ความสามารถ มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สั้น เพื่อการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นการเรียนรู้อย่างแท้จริง ซึ่งได้มีการมอบรางวัลเงินสด 100,000 บาท และโทรศัพท์มือถือโนเกีย N90 1 เครื่อง โดย มร.บ็อบ แมคดูกอล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริการลูกค้าและการตลาด บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ณ ลานกิจกรรม หน้าโรงภาพยนตร์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า
จุดเด่นของพล็อตเรื่องที่ได้ แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของเด็กมัธยมฯ ทั่วไป มันเหมือนเป็นวงจร เรียนพิเศษเพราะว่าเรียนในห้องไม่รู้เรื่อง เรียนในห้องไม่รู้เรื่องเพราะว่าหลับ และที่หลับเพราะว่าเมื่อคืนนอนดึก และที่นอนดึกก็เพราะว่าทำการบ้าน ถามว่าทำไมไม่ทำการบ้านตอนเย็น ก็เพราะว่าตอนนั้นต้องไปเรียนพิเศษ จริงๆ แล้วการเรียนพิเศษก็เหมือนกับแฟชั่น ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มเกรดได้จริง อาจจะเรียนเพราะไปดูหญิง หรือเรียนเพราะว่าพ่อแม่บังคับ มันมีหลายสาเหตุ
ใช้ธีมง่าย ๆ ที่มีชื่อเรื่องว่า Our Life is not a Movie คือ ชีวิตของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ ที่ต้องเรียนมากเพื่อแข่งขันในการสอบเอนทรานซ์ ซึ่งตรงนี้ น้องสุกฤษ ได้แสดงความคิดเห็นว่า “มันสะท้อนว่าชีวิตเราอยู่ในกรอบ อยู่ในระบบ คิดเองไม่ได้ บางทีการศึกษาก็ทำให้เราโง่ลงด้วยนะ”
ในเรื่องของการผลิตที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เวลาที่ใช้ในการทำหนังสั้นเรื่องนี้ก็ประมาณ 2-3 วัน ส่วนใหญ่นานเพราะว่าต้องรอเพื่อนเรียนพิเศษ ฉากที่ยากสุดก็เรื่องของการหาสถาบันเรียนพิเศษที่จะอนุญาตให้เราเข้าไปถ่ายได้ ที่สุดแล้วก็ไปได้ที่หนึ่งในสยามฯ แล้วก็เรื่องของการทำไฟล์หนังในมือถือโนเกีย ที่มันจะยากตรงที่ต้องแปลงไฟล์ เพื่อตัดต่อในคอมพิวเตอร์
ทำงานมาเหนื่อยแล้วก็ต้องมีฉากที่ประทับใจ ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า “ก็มีหลายฉากครับ จริงๆ แทบทุกฉากจะมีนัยแฝงอยู่ อย่างฉากทำการบ้าน แล้วก็เล่น MSM มันก็สื่อได้ 2 อย่างคือ ไม่ตั้งใจทำการบ้าน กับเทคโนโลยีมีผลต่อเด็กรุ่นใหม่มาก คนที่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน ก็เหมือนตามโลกไม่ทัน ผมว่าเรื่องนี้ตอนนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว เรียกว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ก็ว่าได้ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีข้อเสียแน่นอน การที่ผมได้ทำหนังสั้นกับเพื่อน ตรงนี้มากกว่าที่ทำให้ผมประทับใจ เพราะว่าเพื่อนๆ ทุกคนช่วยกันเต็มที่ มันเลยทำให้งานสำเร็จเสร็จได้ ผมเลยชอบทุกตอนที่มันรวมกันและถ่ายทอดเรื่องราวความคิดของผมและเพื่อนๆ ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเรื่องนี้ผู้ใหญ่ไม่สนับสนุน บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เราก็เลยรู้สึกว่ามันมีค่า เลยภูมิใจ จริงๆ เด็กไทยหลายคนมีความคิด แต่ไม่มีโอกาส ถ้าผู้ใหญ่สนับสนุนก็คงจะดีกว่านี้แน่นอน”
ความสำเร็จกับรางวัลที่ได้ในวันนี้ หากมองย้อนกลับไป จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ มาจากการเข้าโครงการทำหนังสั้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แล้วก็ชอบ พอเกิดโครงการประกวดหนังสั้นที่ไหน ก็จะส่งประกวด การทำหนังสั้นจริงๆ ไม่มีอะไรมาก อาศัยเรียนรู้เอาจากเพื่อนๆ ด้วยกัน และที่สำคัญกว่านั้น ที่โรงเรียนของพวกเขาก็มีการตั้งชุมนุมหนังสั้นด้วย ที่นั่นจะเป็นจุดรวมตัวรวมความคิดของพวกเขา นำเสนอออกมาเป็นผลงาน อาทิ About a boy and TV, Bangkok Story, วิ่งเพื่อหยุด และ the last life กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน
“ทำหนังสั้นออกมาสู่สายตาสาธารณะชนแล้ว คงเป็นเรื่องของจำนวนคนที่ดูหนังผม แล้วไปคิดต่อว่าได้อะไรมากกว่านั้น ผมไม่อยากให้คนเรามาเสียเวลา 1 ใน 3 ของชีวิตกับการเรียนในห้องแคบๆ ผมอยากให้คนมีสังคม มีเพื่อน มีมนุษยสัมพันธ์มากกว่านี้ เพราะว่าคนเราไม่ใช่สินค้าที่ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบอะไรมากมาย เหมือนเป็นทาสระบบ เรื่องแพ้ชนะผมไม่ซีเรียส อยากให้คนดูหนังผมเยอะๆ คิดเยอะๆ มันถึงจะมีค่า เกิดประโยชน์กับสังคม อีกอย่าง การแข่งขันครั้งนี้ หลายคนเก่งแต่ยังไม่มีโอกาส ฉะนั้น 365 วัน เป็นของทุกคน ทุกอย่างอยู่ที่จังหวะ และ โอกาส ของใครจะมาก่อน และใครจะคว้าไว้ทัน” สุกฤษ กล่าว
แล้วเด็ก ๆ เหล่านี้ก็มองเรื่องเทคโนโลยีที่มีมากับโทรศัพท์ว่า ปกติผมก็จะใช้โทร นอกเหนือจากนี้ ก็คงเป็นการส่ง SMS ซึ่งมันประหยัดกว่า ส่วนการที่โทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้มีกล้องแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของการตลาดมากกว่า สินค้ามันก็ต้องมีมาตรฐาน เพื่อแข่งกับคู่แข่งได้ ลูกค้าจริงๆ อาจจะใช้โทรศัพท์มือถือแค่โทรปกติ แต่ซื้อมาก็ดีที่ได้กล้องมาด้วย ทำให้ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ เพราะว่าใครจะเป็นตากล้องเมื่อไหร่ก็ได้ บางทีมันก็มีโทษเหมือนกัน ผมว่าโทรศัพท์มือถือทำให้โลกเราเดี๋ยวนี้ความลับน้อยลง คนอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น มากจนบางทีขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งยังมีบางคนใช้โทรศัพท์มือถือไปในทางที่ผิด อย่าง เอากล้องไปถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิง ไปใช้ส่งภาพลามกอนาจารกัน ผมว่าตรงนี้มันเป็นเรื่องของผู้บริโภค ที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างไรก็ได้ กับอุปกรณ์สื่อสารของตนเอง อีกอย่างหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสังคมด้วย มีเทคโนโลยี มีอำนาจ ใช้ในทางที่ผิด ก็มีปัญหา” สุกฤษกล่าวสรุป
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร.0-2434-8300 สุจินดา, แสงนภา, ชลธิชา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ