กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งเครื่องโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงอาหาร : Gastronomy Tourism โดยที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหารและคัดสรรเมนูเด่นในท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยมากขึ้น อันจะนำรายได้สู่ท้องถิ่นและประเทศเพิ่มขึ้น
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นการท่องเที่ยวที่ผสมผสานเรื่องอาหารและวัฒนธรรมการกินของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมซึ่งจะแตกต่างไปในแต่ละภูมิภาค ดังนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกรุงเทพมหานคร ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงอาหารเป็นหนึ่งในรูปแบบของการท่องเที่ยวที่สำคัญ กระทรวงฯ จึงมีแผนในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารโดยได้มีการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่น เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agriculture-tourism)/การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-tourism), การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม (Wellness tourism) และนอกจากนี้มีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวอาหารที่สำคัญทั่วทุกภูมิภาคของไทย ได้แก่ เชียงใหม่ (ข้าวซอย น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู), พระนครศรีอยุธยา (ขนมสายไหม), เพชรบุรี (น้ำตาลสด ขนมหม้อแกง ข้าวแช่), และสุราษฎร์ธานี (ไข่เค็มไชยา หอยนางรม)
ปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหาร 480,000 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 (อันดับ 1 ค่าที่พัก ร้อยละ 29, อันดับ 2 ค่าซื้อสินค้า/ของที่ระลึก ร้อยละ 24) ส่วนนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1. จีน 83,313 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19 อันดับ 2.รัสเซีย 20,818 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32 อันดับ 3. สหราชอาณาจักร 18,409 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10 อันดับ ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะชื่นชอบอาหารไทย ในปัจจุบันมีแนวโน้มชื่นชอบอาหารริมทาง (Street Food) และอาหารท้องถิ่น (Local Food) มากขึ้น
"นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ที่ประเทศไทยได้รับรางวัลมากมายในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารที่สำคัญ อาทิ กรุงเทพฯ ได้รับการยกย่องให้เป็น "1 ในเมืองหลักของสวรรค์แห่งอาหารริมทาง" จัดอันดับโดย CNN และ Best Street Food in Bangkok โดยเว็บไซต์ Travel and Leisure ประกอบด้วย เยาวราช/อ.ต.ก./ทองหล่อ
คาดว่าแนวโน้มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ในปี 2560 จะมีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 500,000 ล้านบาท สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะสำเร็จได้ต้องมีปัจจัยและหน่วยงานที่จะช่วยทำให้ประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ภาพลักษณ์ที่ดีของการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย และการส่งเสริมโดยภาครัฐ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กทม.) ที่ให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพและความสะอาดของอาหารริมทาง, การประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการมีภัตตาคารระดับมิชลินเพิ่มขึ้น"
"นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในการร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารในรูปแบบ Street Food โดยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันคือ สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ รวมไปถึงการจัดระเบียบจราจรด้วย และที่สำคัญคือด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยวมั่นใจได้อย่างแน่นอน เพราะทุกพื้นที่ในย่านเยาวราชได้มีการติดกล้องซีซีทีวีเพิ่มอีก 64 ตัว จากเดิมมี 161 ตัว เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งนอกจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่แล้ว ยังมีสายตรวจของตำรวจท่องเที่ยวเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐอื่นๆ รวมทั้งภาคประชาชนในพื้นที่ในการช่วยกันสอดส่องดูแลและให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อไป" ปลัดฯ พงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้าย