กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--กรมอนามัย
กรมอนามัย เตือนผู้บริโภคที่ติดใจในรสชาติอาหารใส่ผงชูรส หากรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดอาการแพ้ หรือป่วยเป็นโรคภัตตาคารจีนได้ พร้อมย้ำผงชูรส ไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ บริโภคมากเสี่ยงอาการแพ้ แถมยังมีอันตรายต่อสุขภาพหากบริโภค ผงชูรสปลอม โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีอาการผิดปกติทางสมอง
น.พ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ ยังนิยมใส่สารปรุงแต่งรสอาหาร หรือผงชูรสจำนวนมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อย ซึ่งในความเป็นจริง ผงชูรสจะละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ ทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อและกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอทำให้อาหารมีรสหวานอร่อย แต่หากบริโภคมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตราย ต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ โดยเฉพาะอาการแพ้ผงชูรสที่เรียกว่า “ไชนีสเรสเตอรองซินโดรม” หรือรู้จักกันในชื่อของโรคภัตตาคารจีน ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ นอกจากนี้บริเวณผิวหนัง บางส่วนอาจมีผื่นแดง เนื่องจากเส้นเลือดรอบนอกบางส่วนขยายตัว และในผู้ที่มีอาการมาก ๆ จะชาบริเวณ ใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเอง ภายในเวลา 2 ชั่วโมง และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ อีก อย่างไรก็ดีหญิงมีครรภ์ไม่ควรบริโภคผงชูรส เด็ดขาด เพราะอาจส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีอาการผิดปกติทางสมอง และอาจทำให้ทารกตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาได้ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากได้รับประทานผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการ เจริญเติบโตของสมองในเด็กวัยนี้อีกด้วย
น.พ.มานิต กล่าวต่อว่า จากความนิยมบริโภคผงชูรสกันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ทำให้ผู้ผลิตบางรายใช้สารปลอมปนในผงชูรสเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยสารที่ใช้มีทั้งที่เป็นวัตถุไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ได้แก่ เกลือ น้ำตาล แป้ง และวัตถุที่เป็นอันตราย เช่น บอแรกซ์ ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในอาหาร เพราะหาก ร่างกายได้รับในปริมาณสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้ หรือถ้าได้รับในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้งจะสะสมในร่างกาย ก่อให้เกิดอาการพิษแบบเรื้อรัง ทำให้เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย สับสน ระบบย่อยอาหารถูกรบกวน ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีสารอีกชนิดที่นิยมใส่ปะปะในผงชูรสคือ โซเดียมเมตาฟอสเฟต ซึ่งปกติจะใช้เป็นน้ำยา ล้างหม้อน้ำรถยนต์ เมื่อรับประทานเข้าไปจะออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจ แก่ผู้บริโภคว่าผงชูรสที่ใช้นั้นปลอดภัยจากสารปลอมปนหรือไม่ สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ ให้นำผงชูรสที่สงสัยประมาณครึ่งช้อนชาใส่ลงในช้อนโลหะเผาจนไหม้ หากเป็นผงชูรสแท้สารนั้นจะไหม้ไฟเป็นถ่านสีดำที่ช้อน แต่ถ้าเป็นผงชูรสที่มีส่วนผสมของบอแรกซ์หรือโซเดียมเมตาฟอสเฟตผสมอยู่ จะพบว่า มีทั้งส่วนที่ไหม้เป็นสีดำ และส่วนที่เหลือค้างเป็นสีขาวที่ช้อน
“การบริโภคผงชูรสมากเกินไปนอกจากจะเสี่ยงต่ออาการแพ้ผงชูรสแล้ว ยังเสี่ยงต่อการ ได้รับอันตรายจากผงชูรสชนิดปลอมปนด้วย ดังนั้น แม่บ้านที่มีฝีมือในการปรุงอาหารหรือใช้น้ำเคี่ยว กระดูกสัตว์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ผงชูรสในการปรุงประกอบอาหารเลย แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ผงชูรสจริง ๆ ผู้บริโภคควรเพิ่มความพิถีพิถันในการเลือกซื้อ โดยการสังเกตหีบห่อหรือกระป๋องบรรจุ ขอบผนึกต้องไม่มีรอยตำหนิฉลากพิมพ์เป็นตัวหนังสือภาษาไทยชัดเจนไม่เลอะเลือน และต้องระบุชื่ออาหารแสดงคำว่า “ผงชูรส” ตลอดจนมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร (อย.) ระบุชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต เดือนปีที่ผลิต รวมทั้งน้ำหนักสุทธิอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากเป็นผงชูรสผสมต้องระบุชนิด และปริมาณของส่วนผสมที่มีอยู่เป็นร้อยละของน้ำหนักให้ชัดเจนด้วย--จบ--
-นศ-