กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองว่าการที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ตัดสินใจเจรจาเงื่อนไขสัญญาในการให้บริการสื่อสารไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (โดยมีอันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) เป็นผลดีต่อ DTAC โดยหากการเจรจาเสร็จสิ้นและได้มีการลงนาม ฟิทช์เชื่อว่าจะช่วยให้สถานะทางการตลาดของ DTAC แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากความเสียเปรียบในด้านคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น เป็นหนึ่งในข้อจำกัดทางธุรกิจของ DTAC
อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาดังกล่าว รวมถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561 ที่น่าจะอยู่ในระดับสูง และเงินลงทุนขยายโครงข่ายที่น่าจะเพิ่มขึ้น น่าจะกดดันกำไร กระแสเงินสด และอัตราส่วนหนี้สิน ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 DTAC ได้แจ้งว่า คณะกรรมการของ TOT ได้มีมติอนุมัติให้เข้าสู่กระบวนการทำสัญญากับบริษัทลูกของ DTAC ในการให้บริการสื่อสารไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300MHz โดยบริษัทได้เสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับ TOT เป็นจำนวนเงิน 4.5 พันล้านบาท ต่อปี สำหรับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว
ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ DTAC จะปรับตัวลดลงประมาณ 5% มาอยู่ที่ สองหมื่นสี่พันถึงสองหมื่นห้าพันล้านบาท ในปี 2560 จาก สองหมื่นหกพันล้านบาทในปี 2559 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายภายใต้สัญญาคลื่นความถี่ 2300 MHz ให้ TOT นอกจากนี้เงินที่ต้องใช้ในการจัดหาคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561 ที่น่าจะอยู่ในระดับสูง และเงินลงทุนขยายโครงข่ายที่น่าจะเพิ่มขึ้น จะทำให้หนี้สิน และอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน DTAC มีอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำ และบริษัทได้ประกาศงดจ่ายเงินปันผลประจำปีของผลประกอบการปี 2559 ดังนั้นฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ DTAC น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 อยู่ที่ 1.9 เท่า) ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน
ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตของ DTAC หาก FFO-Adjusted Net Leverage ของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นมีการแข็งขันที่รุนแรง และ DTAC ชนะการประมูลด้วยราคาที่สูงกว่าที่ฟิทช์คาดไว้มาก
ฟิทช์เชื่อว่าจำนวนคลื่นความถี่ และการลงทุนในการขยายโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น น่าจะช่วยทำให้คุณภาพของเครือข่ายของ DTAC ดีขึ้น และทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาด และรายได้ ปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลงกว่าในอดีต โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ให้บริการมือถือเอกชนรายใหญ่ 3 ราย DTAC มีสถานะการถือครองคลื่นความถี่ที่มีความเสียเปรียบกว่าผู้ให้บริการรายอื่น นอกจากนี้บริษัทยังมีการลงทุนขยายโครงข่ายที่น้อยกว่าผู้ให้บริการรายอื่นเนื่องจำนวนคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัด ฟิทช์เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ DTAC สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่คู่แข่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
การถือครองคลื่นความถี่ของ DTAC ที่ดีขึ้นน่าจะทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการมือถือปรับตัวดีขึ้น โดยในปัจจุบัน DTAC ต้องแข่งขันในด้านราคา และการเสนอแพ็คเกจที่ให้ปริมาณการใช้ข้อมูลจำนวนมากเป็นหลัก เพื่อปกป้องส่วนแบ่งทางการตลาด เนื่องจากข้อจำกัดด้านคลื่นความถี่ และคุณภาพโครงข่ายที่ด้อยกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ฟิทช์เชื่อว่า DTAC น่าจะลดการแข่งขันด้านราคา และมุ่งเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพในการให้บริการมากขึ้น หลังจากที่บริษัทมีคลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพโครงข่ายดีขึ้น ซึ่งฟิทช์คาดว่าเงินลงทุนในการขยายโครงข่ายของ DTAC น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
ฟิทช์คาดว่าบริษัทยังคงต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วง 2 ปีข้างหน้านอกเหนือจากคลื่นความถี่ 2300 MHz ดังกล่าว เพื่อทดแทนคลื่นความถี่ปัจจุบันจำนวน 35 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2561 DTAC น่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 เนื่องจากบริษัทยังคงต้องใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G อยู่ นอกจากนี้โทรศัพท์ที่สามารถใช้ได้กับคลื่นความถี่ 2300 MHz ยังคงมีจำนวนน้อยในประเทศไทย ดังนั้น DTAC อาจต้องเสนอส่วนลดค่าเครื่องที่สูงเพื่อจูงใจให้ผู้ใช้บริการย้ายไปใช้คลื่นความถี่ใหม่