กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--สวทช.
ดร.มัตถกา คงขาว นักวิจัยห้องปฏิบัติการนาโนเวชสำอาง หน่วยวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อชีวิตและสุขภาพ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับทุนนักวิจัยหญิงออสเตรเลีย-เอเปค ประจำปี พ.ศ. 2560 เพื่อทำวิจัยในหัวข้อ "An development of a new delivery system for HPV vaccine candidates against cervical cancer" หรือการพัฒนาวัคซีนที่ใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูก จากรัฐบาลออสเตรเลีย (Australia-APEC Women in Research Fellowship) กำหนดสิงหานี้ เดินหน้าทำวิจัยร่วมกับศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ตั้งเป้าให้วิธีรักษามะเร็งโดยใช้วัคซีนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษามะเร็งปากมดลูกต่อไป
ดร.มัตถกา คงขาว เปิดเผยว่า "งานวิจัยที่ได้รับทุน คือเรื่อง "The development of a new delivery system for HPV vaccine candidates against cervical cancer" เป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีนที่ใช้ในการรักษามะเร็งปากมดลูก เนื่องจากในปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ก่อให้เกิดการตายของผู้หญิงทั่วโลกเป็นอันดับที่ 2 การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดร่วมกับการให้เคมีบำบัดซึ่งเป็นวิธีรักษาทั่วไปของโรคมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะตอบสนองต่อการรักษาต่ำ หรือแม้กระทั่งตอบสนองในช่วงแรกและเกิดการกลับมาใหม่ของมะเร็ง ดังนั้น การหาวิธีการรักษามะเร็งปากมดลูกวิธีใหม่ จึงยังเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจของนักวิจัยด้านมะเร็ง โดยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุเกือบ 100% มาจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า HPV หรือ Human papilloma virus ฉะนั้น การรักษาโดยใช้วัคซีนเพื่อไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เพิ่มขึ้นเพื่อทำลายไวรัสเหล่านี้หรือภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษามะเร็งประเภทนี้ นอกจากนี้ วัคซีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกที่มีอยู่ท้องตลาดขณะนี้เป็นวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการรักษาเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดมะเร็งเหล่านี้"
"งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นการทำงานร่วมกับ Professor Istvan Toth จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (The University of Queensland) ในการพัฒนาวัคซีนสำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูก พร้อมทั้งออกแบบระบบนำส่ง เพื่อนำส่งวัคซีนที่ได้ไปยังเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส HPV ของมะเร็งปากมดลูกอย่างจำเพาะเจาะจง และยังเป็นการริเริ่มการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการต่อต้านและรักษามะเร็งปากมดลูกอีกด้วย โดยมีกำหนดจะเดินทางไปทำวิจัยที่ออสเตรเลียในเดือนสิงหาคมนี้"
ทั้งนี้ ทุน Australia-APEC women in Research Fellowship เป็นแหล่งทุนที่สนับสนุนเงินทุนวิจัยหลังปริญญาเอกให้กับนักวิจัยหญิง ที่ประสบความสำเร็จในการทำวิจัยจากกลุ่มประเทศเอเปค โดยทุนวิจัยนี้เป็นการส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันของนักวิจัยหญิงในกลุ่มประเทศเอเปคกับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในประเทศออสเตรเลีย โดยแหล่งทุนจะเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนเพื่อทำวิจัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและกระชับความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย เพิ่มเครือข่ายงานวิจัยและเปิดโลกทัศน์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกับนักวิจัยในประเทศออสเตรเลีย