อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยิ้มร่าสวนกระแสตลาดส่งออกไทยไตรมาสแรกโตกว่า 60%

ข่าวทั่วไป Friday June 29, 2001 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--เอ็มเอ็มซี สิทธิผล
ไตรมาสแรกของปี 2544 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโตกว่า 60% หอบเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 23,523.79 ล้านบาทเป็นรถยนต์สำเร็จรูป 39,004 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 44% มิตซูบิชิส่งออกเป็นอันดับหนึ่งด้วยยอด 15,463 คัน ตามด้วยกลุ่มออโตอัลลายแอนซ์ 10,544 คัน และอันดับ 3 เจเนอรัลมอเตอร์ 8,290 คัน ด้านตลาดส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนประกอบมูลค่ากว่า 5,330.60 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องกว่า 37% อนาคตส่งออกรถยนต์ไทยไปนอกส่อแววสดใสเหตุจากรัฐบาลสนับสนุนให้เป็นสินค้าดาวรุ่ง
ดร.วัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในไตรมาสแรกของปี 2544 (มกราคม - มีนาคม) ว่ามีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีเนื่องจากตลาดของการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปนั้นมีการส่งออกไปทั่วโลกไม่ได้ส่งออกไปยังประเทศที่เศรษฐกิจตกต่ำเพียงอย่างเดียว จึงเป็นสาเหตุให้รถยนต์ส่งออกไม่มียอดลดลงเหมือนตลาดส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ โดยในช่วงไตรมาสแรกสามารถนำเงินไหลเข้าสู่ประเทศมูลค่ากว่า - 23,523.79 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวสูงถึง 60% โดยแบ่งรถยนต์สำเร็จรูป 39,004 คัน มูลค่า -18,193.19 ล้าน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 44% ด้านตลาดส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนส่งประกอบมีมูลค่ากว่า 5,330ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 37% ซึ่งถือว่าเป็นการขยายในทิศทางที่ดีมาโดยตลอด และสำหรับยอดส่งออกสูงสุดอันดับ 1 คือ มิตซูบิชิ ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 15,463 คัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,338.04 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 31% สามารถครองส่วนแบ่งของตลาดสูงสุดถึง 39% อันดับ 2 คือกลุ่มออโตอัลลายแอนซ์ 10,544 ล้านบาทมีมูลค่า 4,076.01 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17% มีส่วนแบ่ง 27% อันดับ 3 เจเนอรัลมอเตอร์ 8,290 คัน มูลค่า 4,797 ล้านบาท มีส่วนแบ่ง 21%
สำหรับการส่งออกประจำเดือนมีนาคม (2544) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวนทั้งสิ้น 14,681 คัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,078.44 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 37% ด้านตลาดส่งออกเครื่องยนต์และชิ้นส่วนประกอบมีมูลค่าถึง1,888 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่ม 31% และเมื่อรวมยอดการส่งออกทั้งสองประเภทนี้แล้วจะมีเม็ดเงินต่างชาติเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยสูงถึง 8,966.80 ล้านบาท โดยมีมิตซูบิชิเป็นผู้นำตลาดส่งออก จำนวน 5,652 คัน มูลค่ากว่า 2,729.48 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 24% ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 38% ตามมาด้วย เจเนอรัลมอเตอร์ ซึ่งขึ้นแท่นอันดับ 2 เป็นครั้งแรกด้วยยอด 3,802 คัน มูลค่า 2,281.20 ล้านบาท ส่วนแบ่ง 25% และอันดับ 3 กลุ่มออโตอัลลายแอนซ์ 3,516 คัน มูลค่า 1,351.25 ล้านบาท มีส่วนแบ่ง 23%
ในส่วนของยอดผลิตรถยนต์ของไตรมาสแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 109,877 คัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2543 จำนวน 94,336 คัน) โดยยอดผลิตสูงสุดเป็นรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 26,186 คัน อันดับ 2 คือ รถเก๋งขนาด 1,501 - 1,800 ซีซี 7,672 คัน สำหรับยอดการผลิตสูงสุดในเดือนมีนาคมได้แก่ มิตซูบิชิ จำนวน 8,891 คัน อันดับ 2 โตโยต้า 6,697 คัน อันดับ 3 อีซูซุ 6,388 คัน
และ ดร.วัชระ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้มิตซูบิชิเป็นผู้นำส่งออกรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั้นเนื่องจากรถยนต์มิตซูบิชิได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเป็นระยะเวลายาวนานถึง 13 ปี จำนวนทั้งสิ้น 316,754คัน มีมูลค่ากว่า 117,823.59 ล้านบาท จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รถยนต์มิตซูบิชิเป็นที่ยอมรับจากทุกประเทศทั่วโลก และอีกหนึ่งเหตุผลคือการสนับสนุนของภาครัฐบาลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสินค้าหลักของประเทศไทยดร.วัชระกล่าว
อารยะ พงศ์เสาวภาคย์รองผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ :ประชาสัมพันธ์ (แตน,โจ,นุ้ย,ซิม) โทรศัพท์ 908-8000 ต่อ 8390,8395--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ