กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC เตรียมขอมติผู้ถือหุ้น 31 พ.ค.นี้ ส่งบริษัทลูก QTCGP เข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพม่า 220 เมกะวัตต์ ด้านผู้บริหาร "พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน" เผยครึ่งปีหลังผลงานเทิร์นอะราวด์ตุนงานในมือแล้ว 400 ล้านบาทและเตรียมประมูลงานภาครัฐ-เอกชนต่อเนื่อง หนุนทั้งปีผลงานเข้าเป้า 1,000 ล้านบาท
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขอมติให้ บริษัท คิวทีซี โกลบอลเพาเวอร์ จำกัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในเมืองมินบู สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 220 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 170 เมกะวัตต์ โดย QTCGP ในฐานะผู้ซื้อจะเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นของ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP Thailand)เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าวจาก Noble Planet Pte. Ltd. และ Planet Energy Holdings Pte. Ltd.
บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP Thailand) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยปัจจุบัน GEP Thailand เป็นผู้ถือหุ้น 99.99% และเป็นผู้ได้รับสัมปทานในรูปแบบ BuildwOperatewTransfer (BOT) ในการพัฒนาและดำเนินโครงการฯ และเป็นผู้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ สัญญา PPA)กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE)ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 30 ปี นับจากวันที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของระยะที่ 1 กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 170 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น 4 ระยะและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3/2561
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) กล่าวเพิ่มว่า แนวโน้มการเติบของธุรกิจมีทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง 2560 มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะกลับมาเทิร์นอะราวด์ โดยทั้งปีบริษัทตั้งเป้ารายได้โต 1,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมได้ทยอยส่งมอบสินค้าไปแล้ว 200 ล้านบาท และยังมีออเดอร์ในมือ (backlog)ที่จะทยอยส่งมอบให้กับลูกค้าในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก จำนวน 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2560 บริษัทฯ มีแผนการประมูลงานในส่วนของภาครัฐ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถคว้างานได้ไม่ต่ำกว่า 300-350 ล้านบาท และมียอดสั่งสินค้าจากลูกค้าต่างประเทศ รวมทั้งงานจากภาคเอกชนทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง