กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--IR network
"อินฟอร์เมติกซ์ พลัส" บริษัทลูก UPA ผนึกมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ลงนามในบันทึกความเข้าใจทางการศึกษาและการพัฒนาทางทรัพยากรบุคคล เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้เทคโนโลยีทางด้าน Mobile ให้นักศึกษา เพิ่มความสามารถรองรับความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด ด้านผู้บริหาร "สุวัฒน์ อินมุตโต" มั่นใจช่วยต่อยอดธุรกิจและหนุนผลประกอบการให้สดใส
นายสุวัฒน์ อินมุตโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟอร์เมติกซ์ พลัส จำกัด บริษัทลูกของ บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้บันทึกความเข้าใจทางการศึกษาและพัฒนาทางทรัพยากรบุคคล กับคณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อสนับสนุนพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่ให้มีความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ
เนื่องด้วยตระหนักว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีทางด้าน Mobile Technology มีความต้องการในอุตสาหกรรมไอที และถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตปัจจุบัน รวมทั้งการเติบโตของเทคโนโลยีทางด้านนี้เป็นไปอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานหรืองค์กรต่างๆ จึงเล็งเห็นถึงการพัฒนาบุคลากรทางด้านซอฟต์แวร์ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีทางด้าน Mobile ให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
"บุคลากรที่พัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านนี้ยังมีความขาดแคลนและมีความต้องการสูง จึงทำให้หน่วยงานหรือบริษัทฯ หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทฯ เองมีเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยมากมายและมีคุณภาพและนำหน้าต่างประเทศ เช่น Mozer Mobile Platform หรือ Biometric Face Surveillance และ MultiFace Time Attendance องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของประเทศไทยมีบุคลากรที่จะต่อยอด และ นักศึกษาไทย จะสามารถเริ่มจากการต่อยอดองค์ความรู้ ไม่ต้องไปเริ่มใหม่ สามารถตอบสนองความต้องการของหน่วยงานหรือองค์กร เมื่อจบการศึกษาออกมา และ ในปีนี้ ทางบริษัทแม่ บริษัท ยูไนเต็ดพาวเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด ( มหาชน ) มีการสนับสนุนให้ บริษัทฯ การวางโครงสร้างผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้เพิ่มช่องทางรายได้ของบริษัทฯ จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีมหานครที่เป็นแหล่งองค์ความรู้และมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ วางแผนงานในการถ่ายทอดองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลในอนาคต" นายสุวัฒน์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่าเนื่องจากการพัฒนานักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันในการมอบหมายงานจริงให้ทางทีมอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยพัฒนาซอฟต์แวร์เสมือนบริษัทผู้ให้บริการรับงานจริง ซึ่งจะได้รับมอบหมายขอบเขตงาน รวมถึงความรับผิดชอบต่างๆ เพื่อพัฒนานักศึกษาของสถาบัน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ พัฒนาทรัพยากรบุคคลของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ บันทึกความทางเข้าใจ ทางการศึกษาและการพัฒนาทางทรัพยากร นี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 - วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 และสามารถขยายระยะเวลาได้ความความเหมาะสม