กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งประชุมสรุปมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ชี้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงเป็นรากฐานให้กับอีก 9 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตั้งเป้าภายใน 3 ปี มีการลงทุนไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริหารในภาคอุตสาหกรรม โดยจะเป็นอุตสาหกรรมที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0 และเป็นบรรทัดฐานของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ได้จากความรู้ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงประเทศไทยจะพัฒนาให้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและมีแบรนด์เป็นของตัวเองได้
นายศิริรุจ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนและนโยบายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของประเทศ และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมอนาคต (First S-Curve และ New S-Curve) อื่น ๆ อีก 9 อุตสาหกรรม โดยสอดรับกับแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) และเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการพึ่งพาแรงงานไปสู่การผลิตสมัยใหม่ด้วยองค์ความรู้การผลิตขั้นสูงที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
กลไกและมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
1. กระตุ้นอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจบริการเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยวางกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เนื่องจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนดังกล่าว
2. ผลักดัน System Integrators (SI) ให้มีจำนวนเพียงพอต่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม เนื่องจาก SI จะเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ดังนั้น มาตรการระยะสั้นจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SI ไทย โดยยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วนที่จะเข้ามาผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้มีต้นทุนที่แข่งขันกับสินค้านำเข้าได้
3. พัฒนาศักยภาพและบูรณาการความร่วมมือในเครือข่ายหน่วยงาน Center of Excellence (CoE) เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีหน้าที่เพื่อรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ในการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และรับรองสิทธิประโยชน์สำหรับมาตรการหักค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของกระทรวงการคลัง รวมถึงการพัฒนาบุคคลกร การให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ และการพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรม
นายศิริรุจ กล่าวทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual (ไม่มีระบบอัตโนมัติ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 85 ของโรงงานที่สำรวจ ทั้งนี้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 1 – 3 ปี ถึงร้อยละ 50 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงตั้งเป้าหมายให้ปีนี้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท และภายใน 3 ปีไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท