กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ไอเดียเวิร์คส์คอมมิวนิเคชั่นส์
"การอ่าน" เป็นประตูเปิดทางแห่งการเรียนรู้ในหลาย ๆ เรื่อง โครงการพัฒนาหนังสือและการอ่านเพื่อสร้างรากฐานการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กไทย ดำเนินการโดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน "ปลดล็อกเด็กไทย ด้วยขั้นบันไดการอ่าน" นำเสนอตัวอย่างและคุณลักษณะหนังสือหัดอ่านหรือ "Leveled books" รวมถึงผลงานการศึกษาวิจัยว่าด้วยพัฒนาการทางภาษาและการเรียนรู้การอ่านในเด็กวัย 3-7 ปี ด้วยหวังเสริมศักยภาพครู ผู้ปกครอง และภาคีเครือข่ายด้านงานวิชาการ ร่วมแก้ปัญหาวิกฤตการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กวัยเรียน
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนัก 4 สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์โดยรวมของเด็กปฐมวัยไทย พบว่า คุณภาพทุกด้านยังน่าเป็นห่วง ดังเช่นผลสำรวจของกรมอนามัย ปี 2557 ในกลุ่มเด็กแรกเกิด - 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยในภาพรวม ร้อยละ 72.5 โดยพัฒนาการด้านภาษาล่าช้ามากที่สุด ถึงร้อยละ 36.4 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านระดับสติปัญญา (IQ) ปี 2559 ซึ่งสำรวจกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ พบว่ามีคะแนนไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 94 แต่ก็ยังว่าต่ำกว่าเกณฑ์ มาตรฐานสากล ซึ่งกำหนดไว้ที่ 100 เด็กปฐมวัยจะเริ่มมีพัฒนาการด้านภาษาตั้งแต่แรกเกิด โดยช่วงวัย 0 - 2 ปี เด็กจะเริ่มฟังและพูดตาม เริ่มสะสมคำศัพท์ เมื่ออายุได้ 3 - 4 ปี ก็จะฝึกเรียบเรียงประโยค ทักษะเหล่านี้จะเป็นฐานของความพร้อมในการเรียนอ่านเขียนต่อไปเมื่อถึงช่วงอายุ 5 - 7 ขวบ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า "มีการใช้สื่อจอใสสูงมาก ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ค หรือไลน์ แต่การใช้สื่อเหล่านี้ เพื่อความบันเทิงมากกว่าการเรียนรู้ อีกทั้งพ่อแม่ไม่เข้าใจ ให้เด็กใช้สื่อจอใสตั้งแต่ช่วงปฐมวัยทำให้พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กมีปัญหา เด็กจะใช้เวลาแต่ละวันอยู่กับการเล่นเกมส์ เพื่อให้เกิดความสนุก กระตุ้นสมองส่วนการเกิดอารมณ์มากกว่าการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ การแก้ปัญหาเด็กต้องเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย และถ้าภาษามีการพัฒนาที่ล่าช้า ทำให้พัฒนาการด้านอื่น ๆ แย่ไปด้วย พ่อแม่ต้องมีความตระหนักและเข้าใจถึงโทษที่จะเกิดจากสื่อจอใส และไม่ใช้วิธีการห้ามอย่างเดียวแต่ต้องมีกิจกรรมทางบวก"
การเคลื่อนไหวของเด็กมีผลต่อการเรียนรู้ทางสมอง การที่เด็กได้ทำกิจกรรมท้าทาย การอ่าน บอร์ดเกมส์ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี "การอ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง" เป็นการปูทางทางภาษาที่นำไปสู่การสอนการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ยังเล็ก เพราะการอ่านเป็นกุญแจที่จะไขประตูไปสู่การเรียนรู้ภาษาขั้นสูงที่ลึกซึ้ง การเขียน และเชื่อมโยงพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กอย่างแยกกันไม่ได้ 10 ปีข้างหน้าต้องมีหนังสือเพิ่มมากขึ้น ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันต่อการแก้วิกฤตของเด็ก "หนังสือ" เป็นการผูกเรื่อง เมื่อเด็กอ่านเป็นการผูกเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เด็กอยากอ่านต่อเนื่อง และทำให้เขารู้จักจำนวนคำมากขึ้นเรื่อยๆ "ไม่ต้องเร่ง ลูกจะอ่านเก่งแบบก้าวกระโดด" โดยฐานการอ่านต้องเริ่มจากบ้าน พ่อแม่ ครอบครัวสู่ห้องเรียน ซึ่งหนังสือตามขั้นบันไดการอ่าน จะเป็นเครื่องมือปลดล็อกสมองของเด็ก
ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า การเล่าเรื่องและการเล่านิทานให้ลูกฟัง จะนำไปสู่การอ่านที่จะช่วยเสริมการทำงานของ EF ซึ่งเป็นทักษะสมองที่ทำให้เราต่างจากสัตว์ ทำให้คนเราพัฒนา เรียนรู้ ไม่ใช่เพียงมีชีวิตเพื่อเอาตัวรอดหรือปรับตัวเท่านั้น ทั้งนี้ การอ่านต้องอย่าเร่งให้เด็กอ่าน เรียนรู้ แต่ต้องเป็นไปตามพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่ ครูต้องรู้จักกระบวนการเรียน การอ่านแบบขั้นบันได ฟัง พูด อ่าน เขียน โดยการฟังในที่นี้ คือ การอ่านนิทานให้ฟัง เป็นการหยอดประสบการณ์ ใช้ภาษาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน
น.ส.เกื้อกมล นิยม ผู้ศึกษาผลงานวิชาการ : ผลการถอดรหัสหนังสือสอนอ่านนานาชาติ กล่าวว่า หนังสือ Leveled Books หรือหนังสือหัดอ่านตามระดับ แตกต่างจากหนังสือเรียนและหนังสือฝึกอ่านที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยตรงที่ 1. ไม่ได้จัดตามระดับอายุ แต่จัดตามระดับการพัฒนาการของเด็ก 2. ต้องมีเรื่องราว หรือลักษณะเชิงวรรณกรรมเสมอ ไม่ว่าจะสำหรับระดับเด็กเล็กแค่ไหน และ 3. เป็นหนังสือที่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตีความเอง โดยมี "ตัวช่วย" และ "ความท้าทาย" ในการอ่านที่ พอเหมาะพอดี กับระดับการอ่าน ที่ถูกแบ่งไว้อย่างละเอียด ดังนั้นเด็กจะถูกดึงดูด้วยความสนุกของเรื่องราวและความภูมิใจที่อ่านได้เอง ทำให้เด็กอยากอ่านระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ชุด Oxford Reading Tree หนังสือหัดอ่านจากประเทศอังกฤษ สำหรับช่วงอายุ 3-7 ปีแบ่งเป็นระดับตั้งแต่ Stage 1-8 เป็นชุดที่โดดเด่นตรงการสร้างเรื่องราวและการให้คุณค่าทางจริยธรรมอย่างแนบเนียน ไม่สั่งสอน แต่นำเสนอผ่าน "ปัญหา" ในเรื่องราว ซึ่งจะคลี่คลายโดยปัญญาและปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวละครที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ สะท้อนภาพสังคมอุดมปัญญาและการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบที่น่าสนใจในการผลิตหนังสือสำหรับประเทศไทย
น.ส.ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสืออิสระ/ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า จากผลการศึกษาวิจัย พบว่า นักอ่านขั้นก่อนภาษาแรกเริ่ม (ก่อนอนุบาล-อนุบาล) ไม่สนับสนุนให้สอนการอ่านอย่างเป็นทางการกับเด็กในระดับนี้ นักอ่านขั้นภาษาแรกเริ่ม (อนุบาล- ประถมศึกษาปีที่ 1) ใช้ภาพ ความหมาย และภาษาเป็นเครื่องมือหลักในการทำความเข้าใจกับเนื้อหา กระบวนการที่สำคัญที่สุด คือ การจับคู่เสียงกับคำทีละคำ นักอ่านขั้นเริ่มต้น (ประถมศึกษาปีที่ 1) จะรู้จักใช้ข้อมูลที่หลากหลาย และใช้ความหมายของคำ เสียงของคำ หน้าตาของตำ ในการตรวจสอบการอ่านของตัวเองได้ นักอ่านขั้นรอยต่อ (ประถมศึกษาปีที่ 1-2 ) เด็กไม่ได้ใช้ข้อมูลจากภาพในการอ่านแต่ใช้ภาพเพื่อเสริมความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากขึ้น และสามารถทำความเข้าใจกับข้อมูลในแผนภาพในงานเขียนเชิงสารคดีได้ หากหนังสืออกแบบอย่างดีเด็กก็ยิ่งมีกลวิธีและองค์ความรู้ในการอ่านที่สูงขึ้น มีการตีความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้น และสามารถนำความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ เป็นฐานการชอบความอ่านไปจนโต "หนังสือ Leveled Books ของนานาชาติ" ครูอาจไม่คุ้นชิน เพราะมีตัวหนังสือน้อยๆ แต่มีคู่มือที่ละเอียดเชื่อมโยงกับหลักสูตรแกนกลาง และวิธีการใช้หนังสือ ก่อน ระหว่าง และหลังอ่าน ที่เอื้อให้เด็กได้สร้างกระบวนการอ่านได้เอง ครูสามารถนำไปใช้อย่างง่ายดาย หนังสือไม่ได้สอนเด็กสะกดการอ่าน แต่เป็นการฝึกให้เด็กรู้จัก "อ่านเรื่อง" เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงประสบการณ์ที่มีเพื่อทำความเข้าใจ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้คือกระบวนการการใช้ภาษานั่นเอง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกทั้งกับครูและเด็ก เพราะเป้าหมายของการอ่านอยู่ที่ความสุข และอยากทำซ้ำ
ด้าน น.ส.ซาลีฟา ปาทาน คุณครูโรงเรียนอนุบาลมูลนิธิมัสยิดดารุลอิหฺซาน กล่าวว่า การสอนเด็กอนุบาลต้องเริ่มการเรียนรู้ด้วยการอ่านและการเล่น ซึ่งเมื่อได้มาเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ทำให้ได้เห็นเทคนิคการอ่านจากหนังสือ หนังสือ Leveled Books เป็นการอ่านที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กและครูได้เรียนรู้เทคนิค กระบวนการอ่านที่จะช่วยฝึกฝนให้เกิดพัฒนาการจากความสนุก การเล่น การเล่าเรื่องราว การอ่านระดับขั้นบันได ทำให้รู้ว่าการอ่านของเด็ก ไม่ใช่เพียงเหมาะสมตามอายุเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กด้วย เมื่ออ่าน เรียนรู้อย่างสนุก เด็กจะชื่นชอบการอ่านและกลายเป็นนิสัยติดตัว ขณะเดียวกันครูก็ได้ปรับเปลี่ยนความคิด ได้เรียนรู้เทคนิคการอ่านใหม่ๆ ได้เครื่องมือ หนังสือ สื่อการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็ก"
นอกจากนี้ ในช่วงการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ฐานเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมองและทักษะการอ่าน ผู้เข้าร่วมอบรมได้ความรู้ความเข้าใจใน 4 ช่วงด้วยกัน คือ "พ่อแม่สำคัญกว่าใคร ผู้สร้างขั้นบันไดของการอ่าน" โดย ครอบครัว ธนะชัย สุนทรเวช (พ่อเมฆ แม่เอ๋ย สนพ.ก้อนเมฆ) "จุดไฟให้ครู...สอนอย่างไร ให้เด็กไทยรักการอ่าน" โดย ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล นักวิชาการอิสระ "ผู้ใหญ่รู้ไหม...มีอะไรอยู่ในหนังสือเด็ก" โดย ครูชีวัน วิสาสะ และ "รวมพลังสามเส้า ปลดล็อกสมองของเด็กไทย" โดย ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ซึ่งใจความโดยรวมมีว่า การอ่านให้ลูกฟังควรเริ่มตั้งแต่ในครรภ์ เด็กจะชอบวิธีการที่ผู้ใหญ่อ่านหรือเล่าให้ฟัง ไม่ยัดเยียด ใช้หนังสือที่เหมาะสมกับวัย ยกตัวอย่างหนังสือ "ไม่อยากเป็นควาย" "คุณช้างไปเดินเล่น" "น้องหมีสร้างบ้าน" การสอนเด็กนั้น ผู้สอนควรใช้ภาษาไทยกลาง ไม่ว่าเด็กจะใช้ภาษาถิ่นหรือไม่ก็ตาม พ่อแม่เป็นบุคคลแรกในชีวิตเด็กที่สร้างขั้นบันไดการอ่าน การจัดประสบการณ์ให้เด็กเป็นเรื่องจำเป็นที่ครูจะต้องรู้พัฒนาการของเด็ก ให้เด็กได้เกิดความรู้ รู้จัก ใช้เป็น เห็นคุณค่า ของหนังสือและการอ่าน
ขณะนี้มีการอัพโหลดชุดข้อมูล และจัดทำหนังสือ Leveled Books หากโรงเรียนหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามได้ที่ www.facebook.com/อ่าน อาน อ๊าน และ www.happyreading.in.th