กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 1/2560 เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร กระทรวงเกษตรฯ ปี 2560 – 2564 ชู 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ สู่วิสัยทัศน์ ประชากรในประเทศไทยมีอาหารที่มีคุณภาพเพื่อบริโภคตามหลักโภชนาการอย่างเพียงพอและยั่งยืน
นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน การประชุมดังกล่าวได้รายงานถึง ประกาศ สศก. เรื่อง กำหนดให้เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลเกษตรกร พ.ศ. 2560 ซึ่งออกประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 และที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. .... เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรับทราบถึงแนวทางการบริหารการนำเข้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ตามพันธกรณีความตกลงระหว่างประเทศ ปี 2560 และการกำหนดชื่อสินค้ามันฝรั่งให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 111) พ.ศ. 2539
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พ.ศ.2560 - 2564) ซึ่ง สศก. ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ กำหนดวิสัยทัศน์ "ประชากรในประเทศไทยมีอาหารที่มีคุณภาพเพื่อบริโภคตามหลักโภชนาการอย่างเพียงพอและยั่งยืน" ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ผลิตอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืน โดยเน้นกลยุทธ์เพิ่มศักยภาพการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิต พัฒนาเกษตรกรให้เข้มแข็ง ยุทธศาสตร์ที่ 2 สนับสนุนให้ประชากรทุกระดับเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอได้ตลอดเวลา มีกลยุทธ์ คือ ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตในชุมชน ส่งเสริมระบบการบริการเพื่อสนับสนุนการผลิตและการสร้างรายได้ภายในชุมชน สนับสนุนมาตรการป้องกันและรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการผลิตอาหารคุณภาพดี ลดการสูญเสีย และมีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม เน้นกลยุทธ์ในการสนับสนุนการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งเสริมการให้ความรู้ประชาชนและเกษตรกรในด้านอาหารศึกษา สร้างเครือข่ายและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ยุทธศาสตร์ที่ 4 รักษาเสถียรภาพการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน มีกลยุทธ์ คือการส่งเสริมการคุ้มครองพื้นที่เกษตร สนับสนุนการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ ประมง และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และ ยุทธศาสตร์ที่ 5สนับสนุนการพัฒนาความมั่นคงด้านโภชนาการอาหาร โดยมีกลยุทธ์ คือ วิจัยและพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน และมีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มขึ้น