กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--คอร์แอนด์พีค
โดย อาจารย์ณัฏฐ์ โอธนาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม
และเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
ในโลกของการศึกษาของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยี Internet Of Things หรือ IOT ได้เข้ามาเกี่ยวข้องต่อการเรียนการสอน ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยอาจารย์หรือครูผู้สอนได้ถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ เป็นผู้ช่วยแนะนำและออกแบบกิจกรรมหรือการสร้างชิ้นงานโปรเจ็ค ไปจนถึงการสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของตนเองได้ ในรูปแบบการศึกษาและนวัตกรรมการสอน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ แบ่งออกไปตามคุณลักษณะของผู้เรียนหรือนักศึกษายุคใหม่ ล่าสุดจากการจัดกิจกรรม SAU Engineer Expo 2017 ซึ่งเป็นงานแสดงผลงานของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ภายในงานมีการนำนวัตกรรมแนวคิดการออกแบบเครื่องจักรกลขนาดย่อมเพื่อใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมมาต่อยอดความคิด หลังจากที่เจ้าของโปรเจ็คแต่ละทีมได้พัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมมากขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งทำให้ลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและประหยัดค่าใช้จ่ายหรือสามารถทำให้กระบวนการผลิตง่ายขึ้น
สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่นำมาถ่ายทอดในงาน SAU Engineer Expo 2017 เรียกว่า หุ่นยนต์ทำความสะอาดท่อลมแอร์ คุณสมบัติของหุ่นยนต์ตัวนี้ คือ สามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้สายพานลำเลียงเหมือนรถถังทั่วไป บังคับด้วยรีโมทคอนโทรลหรือใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวควบคุมการทำงานทั้งหมด โดยใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กเป็นตัวจ่ายไฟ มีระบบพาวเวอร์ซัพพลายในตัวเอง รูปทรงถูกออกแบบให้รองรับการทำงานในท่อแอร์โรงงานอุตสาหกรรมทั้งแบบเป็นท่อทรงเหลี่ยมและท่อทรงกลม สิ่งสำคัญของหุ่นยนต์ทำความสะอาดท่อลมแอร์ คือการติดกล้องโทรทัศน์ เพื่อที่จะสามารถมองเห็นภายในช่องแอร์แบบรอบทิศทาง
อีกสิ่งประดิษฐ์ ที่น่าสนใจ คือ แขนกลเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยการตรวจจับสีของวัตถุ ซึ่งประเด็นสำคัญที่นักศึกษาทีมนี้ต้องการคือ นำเสนอให้เห็นรูปแบบของการคัดแยกสินค้า โดยใช้หลักการทำงานของหุ่นยนต์สมองกลในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ทำการใช้สายพานลำเลียงคัดแยกสินค้า เช่น ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม โดยนำหลักการนี้มาย่อส่วนให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม สิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาทีมนี้สามารถตรวจจับสีของวัตถุได้ดี จากการทดสอบการแยกจากฝาสีแดง ฝาสีเขียว และสีฟ้า ซึ่งเป็นการจำลองเครื่องจักรมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมในครัวเรือน
สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า เครื่องตรวจทำนายและเตือนอุทกภัยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาทีมนี้ น่าจะเป็นไฮไลท์เด่นประจำปีนี้ คอนเซ็ปต์ที่นักศึกษากลุ่มนี้คิดขึ้นมาคือ ในช่วงฤดูฝนประเทศไทยมักจะประสบปัญหาฝนตกหนักทั่วทุกภาคของประเทศ จึงทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งตามแม่น้ำหรือลำคลองต่าง ๆ นักศึกษากลุ่มนี้ จึงได้คิดวิธีที่จะช่วยเหลือประชาชนและชาวสวนชาวไร่ ที่มีถิ่นพำนักใกล้แม่น้ำลำคลอง ด้วยการสร้างเครื่องตรวจทำนายและเตือนอุทกภัยด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักการทำงานผ่านแผ่นโซล่าเซลล์ นำมาต่อพ่วงกับตัวคอนโทรลและมาตรวัดระดับน้ำ ซึ่งสามารถติดตั้งตามจุดต่าง ๆ ได้ และเมื่อเกิดเหตุน้ำในระดับของแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะมีสัญญาณเตือนอัตโนมัติ ไปยังจุดแจ้งเตือน หรือส่งผ่านออนไลน์ไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อเตือนภัยให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้น ได้เตรียมเก็บของและหนีจากอุทกภัยได้ทันเวลา ทำให้ลดความเสียหายจากเหตุอุทกภัยน้อยลง และที่สำคัญสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ลงทุนประมาณ 15,000 – 16,000 บาทเท่านั้น
สิ่งประดิษฐ์สุดท้าย ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางด้านความคิด ที่ได้จากงาน SAU Engineer Expo 2017 ในปีนี้ คือเครื่องควบคุมน้ำหนักเส้นด้าย คอนเซ็ปต์ของนักศึกษาที่คิดสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เกิดจากการเฝ้าสังเกตระบบการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องปั่นด้ายขนาดใหญ่ ที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพความยาวของเส้นด้ายเวลาม้วนเข้าสู่โรล จะยาว สั้น หรือเต็มม้วนไม่เท่ากัน ทำให้เกิดปัญหาเวลาส่งงานให้ลูกค้า ซึ่งโรงงานแต่ละแห่งจะต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์การคำนวณระยะทางของเส้นด้ายให้มีขนาดเท่ากันทุกโรล ซึ่งหากสั่งซื้อเครื่องมือชนิดนี้มาจากต่างประเทศจะมีราคาแพงมาก ดังนั้นเครื่องควบคุมน้ำหนักเส้นด้าย ที่นักศึกษาทีมนี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้งบประมาณเพียง 6,000 บาทต่อ 1 หัวการผลิต จะสามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดในการควบคุมน้ำหนักของเส้นด้ายโดยตรง นับเป็นผลงานมาตรฐานให้กับวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยอีกชิ้นหนึ่ง