กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
องค์การสัมพันธภาพระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance : ICA - AP) เป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์ในทุกประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างองค์กรสหกรณ์ทุกประเภททั่วโลก ในการนำมาซึ่งสันติภาพและความมั่นคงแก่ขบวนการสหกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
โดยองค์การ ICA ได้จัดประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการจัดประชุมระดับสูงของภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนระดับสูง และกำหนดกรอบแนวทางและกลยุทธ์ความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและสหกรณ์ในการพัฒนาสหกรณ์ ให้เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง และสามารถปรับบทบาทได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันที่เกิดขึ้น
สำหรับปีนี้ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ ครั้งที่ 10 ซึ่งทางกระทรวงแผงงานและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกับองค์กรสัมพันธภาพสหกรณ์เวียดนาม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 เมษายน 2560 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีหัวข้อประชุมว่า "วิสัยทัศน์ในทศวรรษที่ 30 การเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนอย่างแข็งแกร่ง ระหว่างภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)" นำโดย H.E. Madam Dang Thi Ngoc Thinh รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวเปิดการประชุมมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 500 คน จาก 22 ประเทศ ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ จำนวน 10 ประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ระดับชาติของประเทศสมาชิกองค์การ ICA สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิกฟิก จำนวน 12 ประเทศ
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว พร้อมทั้งได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการสหกรณ์ไทย สรุปใจความสำคัญได้ว่า ระบบสหกรณ์เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี รัฐบาลไทยผลักดันให้นำหลักการพึ่งพาตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสหกรณ์มาใช้ ควบคู่กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้ในการพัฒนาสหกรณ์ในประเทศ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ยังช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยั่งยืนในทุกๆ ด้าน ซึ่งการพัฒนาประเทศโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช้เป้าหมายหลัก หากแต่เป็นการสร้างสมดุลและความมั่นคงด้านการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะการเติบโตที่ปราศจากรากฐานที่มั่นคง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและประเทศชาติ
นอกจากนี้ นโยบายด้านเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญของการเพิ่มบทบาทต่อสหกรณ์การเกษตร ในการสร้างช่องทางการตลาดของสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ และเป็นหนทางนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในยุคปัจจุบันระบบการตลาดแบบเสรี (Market Liberalization) ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ สหกรณ์จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เพื่อให้พร้อมทำธุรกิจร่วมกับภาคเอกชนและให้บริการแก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับขบวนการสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อการพัฒนาสหกรณ์อย่างยั่งยืนในอนาคต
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคสหกรณ์เช่นเดียวกับภาคเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ด้วยการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับและนโยบายทางเศรษฐกิจ กรอบการดำเนินงานและการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาสหกรณ์ อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง จึงมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงมติจากการประชุมร่วมกันของประเทศสมาชิก ICA ว่า ที่ประชุมมีมติให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ ในนโยบายระดับชาติโดยยึดตาม HANOI APCMC RESOLUTION 7 ข้อ ดังนี้ 1.ให้สหกรณ์จัดตั้งและดำเนินการโดยอิสระและด้วยความสมัครใจ ภายใต้ร่างระเบียบกฎหมาย 2.ให้สหกรณ์เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่ด้วยโอกาสในสังคม ได้แก่ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยและผู้พิการ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำธุรกิจกับสหกรณ์ หรือการจ้างงาน 3.ควรวางกลยุทธ์ในการพัฒนาสหกรณ์โดยความร่วมมือในรูปแบบเครือข่าย ในระดับชาติและสหกรณ์ท้องถิ่น โดยให้ตอบสนองความต้องการและใช้โอกาส (Opportunity) ที่สหกรณ์มีอยู่ เพื่อพัฒนาปัญหาและอุปสรรคของสหกรณ์ร่วมกัน รวมทั้งศึกษา อบรมให้แก่ขบวนการสหกรณ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs 4.ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) กับรัฐบาลและสหกรณ์ในฐานะหุ้นส่วนที่มีการสร้างวิธีการสร้างสรรค์ใหม่ๆ บนพื้นฐานการปกครองและการบริหารด้วยตนเองของสหกรณ์โดยสมาชิกสหกรณ์ 5.สร้างชุมชนที่เข้มแข็งบนพื้นฐานการสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทางเพศ เพื่อหล่อหลอมให้สังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน 6.ประเทศสมาชิกควรร่วมมือกันใช้ Information Technology เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใสและทันสมัย และ7.สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสหกรณ์และวิสาหกิจอื่นๆ บนหลักการและคุณค่าสหกรณ์ เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถยืดหยุ่นได้
ผลจากการประชุมครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มองเห็นถึงทิศทางที่จะพัฒนาระบบสหกรณ์ในประเทศไทย โดยการให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) และช่วยสหกรณ์ในเรื่องการตลาด (Marketing Channel) รวมถึงการส่งเสริมการค้าขายแบบ (E-Commerce) เพื่อขยายธุรกิจได้อย่างหลากหลายมากขึ้นและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมจึงได้จัดทำแผนการปฏิบัติการเพื่อติดตามผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนสิงหาคม 2560 ด้วยรูปแบบ coopfor2030.cooop
นอกจากนี้ กรมฯจะร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย รณรงค์ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สหกรณ์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เกิดการเข้าใจร่วมกัน อีกทั้งจะมีการให้คำมั่นสัญญาเพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนไปให้ถึงเป้าหมายและรายงานความก้าวหน้าผ่านเว็บไซต์ www.CoopsFor2030.coop และจะมีการสร้างความร่วมมือกับ We Effect ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือสหกรณ์ทั่วโลกในเรื่องเงินทุนและการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการสหกรณ์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวีเดน เพื่อขอรับการสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสหกรณ์ในประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2560 ขบวนการสหกรณ์ระดับชาติของมาเลเซีย (ANGKASA) จะมีการจัดงาน The Malaysian Carnival of Cooperatives Product and Services เพื่อให้สหกรณ์ทั่วโลกเข้าถึงตลาดสหกรณ์ท้องถิ่นได้โดยตรง และได้เชิญประเทศสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นผู้ประสานงานหลักในนำตัวแทนสหกรณ์จากประเทศไทยเดินทางไปร่วมงาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ไทยและมาเลเซียด้วย
การประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ของประเทศสมาชิก ICA เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหุ้นส่วนและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย โดยยกระดับให้สหกรณ์มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า "ภายใน ปี 2030 จะเพิ่มจำนวนสมาชิกสหกรณ์เป็น 2,000 ล้านคนและ 4 ล้านสหกรณ์ ซึ่งครอบคลุม 20% ของเศรษฐกิจโลก เพื่อช่วยลดปัญหาความยากจน เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชน"