กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมวางแผนโครงการศึกษาการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนในจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง (Eastern Economic Corridor: EEC) เพื่อสอดรับนโยบายของรัฐบาล และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม โดยการศึกษาดังกล่าวเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ให้มีความเหมาะสมรองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบ Super Cluster และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงเปิดพื้นที่โซนนิ่งภาคการผลิตเพิ่มเติม 6 จังหวัด ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และนครพนม เตรียมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่กำลังจะเริ่มต้นประกอบธุรกิจในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯมีโครงการ ศึกษาการกำหนดพื้นที่โซนนิ่งอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปตั้งในแต่ละจังหวัดว่าจะมีประเภทใดที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ บ้าง ซึ่งการดำเนินงานได้ทำการศึกษาพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) และเทคนิคการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ (Potential Surface Analysis : PSA) รวมถึง การทำSieve Mapping ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพความพร้อมของพื้นที่ โดยการศึกษาได้ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่ ซึ่งผลที่ได้จะนำมาเป็นแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรม และรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ โดยในปี 2560 กรมโรงงานฯ กำหนดศึกษาพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดเป้าหมายจำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และนครพนม
นายมงคล กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ "ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในปี 2561 กรมโรงงานฯ ยังได้เตรียมวางแผนดำเนินโครงการศึกษาพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง โดยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และข้อกำหนดพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมุ่งเน้นในการศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่ม Super Cluster และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
โดยการศึกษาจะดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมทุกปัจจัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาเมือง อาทิ ด้านข้อมูลศักยภาพของพื้นที่อุตสาหกรรม ข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมในจังหวัดเป้าหมายรวมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมของบริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่เหมาะสมดังกล่าวให้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจ โครงข่ายคมนาคม ขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการใช้พื้นที่ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ดังกล่าว จะรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นรายพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ และเกิดการเชื่อมโยงในระดับSuper Cluster อย่างเป็นระบบ ลดต้นทุนด้าน Logistics ได้อีกทางหนึ่ง โดยแผนพัฒนาโซนนิ่งพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากเป็นข้อมูลที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มต้นประกอบกิจการต่างๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว นายมงคล กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4025 หรือเข้าไปที่www.diw.zoning.com