กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--หอการค้าไทย
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังองค์กรพันธมิตร เปิดตัวโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" เฟ้นหาสุดยอดผู้ประกอบการจากทั่วประเทศ ติวเข้มเสริมศักยภาพธุรกิจให้เข้มแข็ง แตกต่าง เพิ่มโอกาสขยายตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ โดยชูกลยุทธ์ดึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ผนวกนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่น หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโต ตามแนวทาง Trade & Service 4.0
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าที่มาของโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" ว่าเป็นโครงการที่ดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทาง Trade and Services 4.0 ของหอการค้าไทยฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยองค์ประกอบด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative Economy) ผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย (Digital Economy) และความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมของไทย (Cultural Economy) เพื่อสร้างเป็นสินค้าและบริการที่แตกต่าง นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่แต่ละจังหวัด ภายใต้แนวคิด "ไทยเท่" ที่ได้เริ่มสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมสนับสนุนความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทย ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 34 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้มีการขยายผลต่อยอดไปยังเครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแนวคิด "ไทยเท่" ดังกล่าว ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบคู่ขนาน ทั้งการสร้าง Demand"นิยมเท่แบบไทย" ให้ผู้บริโภค และการพัฒนา Supply "ไทยที่มีความเท่" ให้ผู้ประกอบการ ซึ่งบทบาทของหอการค้าไทยฯ พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตร จะสนับสนุนการพัฒนา Supply ทั้งด้านสินค้าและบริการ ให้มีความ "เท่" แบบไทย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยดำเนินการผ่านโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุน
จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการกระตุ้น Demand ผ่านโครงการ "เที่ยวไทยเท่" เพื่อสร้างค่านิยมให้ผู้บริโภคภูมิใจและรู้สึกว่า "เท่" เมื่อใช้สินค้าและบริการที่มีความเป็นไทย ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2560 และสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มผู้บริโภคได้ราว 25 ล้านคนแล้ว
สำหรับโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" โดยหอการค้าไทยฯ นี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แสดงฝีมือและพัฒนาความสามารถให้ก้าวไกลสู่สากล ผ่านการประกวดซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความพร้อมและโดดเด่นในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม "พร้อมเท่" โดยหอการค้าไทยฯ จะคัดเลือกและมอบรางวัลไทยเท่ให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในฐานะที่เป็นต้นแบบแก่ผู้ประกอบการรายอื่น รวมทั้งสนับสนุนการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ และ 2) กลุ่มผู้ประกอบการที่มีความสนใจและกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมไทยเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม "กำลังเท่" โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพ หากพัฒนาเพิ่มเติมก็จะสามารถเติบโตได้อีกมาก และหอการค้าไทยฯ จะได้เข้าไปร่วมสร้างความเข้มแข็งในจุดนี้ โดยจัดการประกวดแยกใน 4 หมวดตามพฤติกรรมของนักท่องที่ยว ได้แก้ 1) กิน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ 2) ใช้ ได้แก่หมวด เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าท้องถิ่น ของที่ระลึก และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ 3) ทำ กิจกรรมในท้องถิ่น และ 4) เที่ยว ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก เส้นทางท่องเที่ยว เป็นต้น
"วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในแต่ละพื้นที่ สามารถสร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายได้นำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดสินค้าและบริการเท่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
อาทิ เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งได้จำลองเมืองไทยในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้มีประสบการณ์แต่งกายชุดไทย ห่มสไบ ใช้เงินโบราณ ภายใต้บรรยากาศบ้านเรือนและร้านค้าในอดีต หรือโครงการเกษตรอินทรีย์ สนามบินสุโขทัย มีที่พักซึ่งให้ผู้เข้าพักได้สวมใส่งอบและชุดม่อฮ่อม ปั่นจักรยานเข้าสวน มีกิจกรรมให้ทดลองทำนา รวมถึงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่สรรสร้างจากข้าวไทย เช่น ชาข้าว น้ำปั่นใบข้าว ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้าแล้ว ยังถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างงานและสนับสนุนชุมชนอีกด้วย เรียกว่าได้ทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ หอการค้าไทยฯ เล็งเห็นว่ายังมีผู้ประกอบการไทยอีกมากที่มีศักยภาพ หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา ก็จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ในทุกภูมิภาค" นายกลินท์กล่าว
ด้านการพัฒนาความสามารถและสนับสนุนผู้ประกอบการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จับมือกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมของขวัญ ของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน รวมถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทยฯ โดย Thailand SMEs Center ร่วมพัฒนาความสามารถและสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) เพิ่มโอกาสทางการขาย จากการร่วมแสดงผลงานในงานแสดงสินค้าระดับประเทศ อาทิ งาน BIG+BIH และงาน THAIFEX-World of Food Asia การสนับสนุนการเปิดตลาดในต่างประเทศโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การส่งเสริมโอกาสในการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมทั้งโอกาสในการนำสินค้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำในเครือข่ายหอการค้าทั้งในและต่างประเทศ 2) เสริมความแข็งแกร่ง จากการอบรมเพื่อพัฒนาด้าน Designและ Branding โดยผู้เชี่ยวชาญ การรับการสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการรับฟังแนวคิดและรับคำแนะนำจากผู้ประกอบการที่นำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มจนประสบผลสำเร็จ และ 3) สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก จากการได้รับรางวัลเกียรติยศและประกาศนียบัตรรับรองจากรัฐมนตรี โอกาสในการได้สัมภาษณ์เพื่อเผยแพร่ธุรกิจผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการได้รับเชิญเข้าร่วมบรรยายและออกบูธแสดงสินค้าในเวทีสัมมนาสำคัญๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น
ผู้ประกอบการจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่สนใจ สามารถเข้าร่วมโครงการ "ไทยเท่ ทั่วไทย" เพื่อร่วมเฟ้นหาผู้ที่เป็นที่สุดในการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของแต่ละภาคได้ ตั้งแต่วันที่1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2560 โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับโอกาสในการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ เพื่อเสริมความเข้มแข็งและความพร้อม ก่อนจะตัดสินผลการประกวดในเดือนตุลาคม 2560 ดูรายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ทาง www.thaichamber.org หรือ Email: thaitay@thaichamber.org