กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ให้มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติได้เข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแดน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกรองรับการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New Engines of Growth) โดยเน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่ามีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกัน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA)เพื่อรองรับการพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่สูงขึ้นได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสนองนโยบายรัฐบาลอีกด้วย
"ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะ และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ใช้กลไกประชารัฐในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่อนาคตได้อย่างมั่นคง โดยมุ่งเน้นให้กำลังแรงงานได้รับการพัฒนาขีดความสามารถ มีมาตรฐานสามารถแข่งขันได้ในทุกภูมิภาค ทุกภาคส่วนที่เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะฝีมือ และร่วมกันผลักดันจนเกิดสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี" หม่อมหลวงปุณฑริก กล่าว
ด้าน ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันระดับอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่ระดับ 2.0 แล 2.5 คิดเป็นร้อยละ 70 ของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเน้นผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ (Mass Production) ส่วนอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับ 3.0 – 4.0 นั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่ของไทยไม่กี่ราย นอกเหนือจากนี้ก็เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ หากอุตสาหกรรมไทยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนา เน้นให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศ ไม่พัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เป็นของตนเอง ไม่พัฒนาศักยภาพแรงงาน พึ่งพิงแรงงานต่างชาติ และไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการยกระดับอุตสาหกรรมแล้วนั้น จะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต
สำหรับการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรม 3.0 เป็นการแข่งขันขีดความสามารถด้านผลิตภาพ (Productivity) การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบการผลิตอัตโนมัติในการลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการด้านคุณภาพ ควบคุมระยะเวลาในกระบวนการผลิตสั้นลง ลดของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และใช้พลังงานและแหล่งทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ได้แข่งขันด้านผลิตภาพ แต่เป็นการสร้างความแตกต่างและจุดขายของผลิตภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการสูงสุดของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
ดร.ขัติยาฯ กล่าวต่อว่า สภาอุตสาหกรรมฯ มีแนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยในช่วง 5 ปีแรก (ปี ค.ศ. 2015 – 2020) เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมจาก 2.0 ไปยัง 3.0 โดยเป้าหมายคือ อุตสาหกรรมไทยใช้ระบบเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติในการแข่งขันผลิตภาพ และในช่วง 5 ปีหลัง (ค.ศ. 2021 – 2025) เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรม 3.0 ไปยังอุตสาหกรรม 4.0 โดยเป้าหมายคือ สร้างความแตกต่างและจุดขายของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ส่วนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 (Thailand 4.0) ใน 20 ปีข้างหน้า โดย ส.อ.ท. จะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคเกษตรกรรมเพื่อให้เกษตรกรเป็น "Thailand Smart Farming 4.0" ภายในปี 2030 ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร บริการการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิตและบริหารจัดการอายุสินค้าทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกเหลือ 70% ของพื้นที่ และพื้นที่บางส่วนใช้ในการปลูกพืชพลังงานหมุนเวียน และในปี ค.ศ. 2035 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ "Thailand 4.0" โดยสมบูรณ์ยิ่ง ซึ่งเป้าหมายคือ ประชากรหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ดังนั้นในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ 4.0 จะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และสถาบันต่างๆ โดยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ก้าวทันทิศทางของอุตสาหกรรมโลก และเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง สอดคล้องกับนโยบายการนำประเทศเข้าสู่โมเดล "ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)"
ต่อมารัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อเป็นการนำร่องพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 จึงเกิดเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ดังกล่าว จึงได้ยกระดับ 12 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคเป็นศูนย์เทคโนโลยีขั้นสูงรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และกำหนดให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 17 ระยอง และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานฉะเชิงเทรา เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี Automation และ Robotics เพื่อรองรับนโยบาย EEC ของรัฐบาล โดยร่วมกับสถาบันไทย – เยอรมัน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาทั้งหลักสูตร เครื่องมืออุปกรณ์ และบุคลากร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทุกอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0
"สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ภายใต้ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ทำการคาดการณ์ความต้องการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้าสู่ Industry 4.0 เพื่อรองรับกับนโยบายของ กพร. ด้วยการนำข้อมูลที่เคยจัดทำ Database on Demand ไว้แล้ว จำนวน 15 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก มาวิเคราะห์ความต้องการพัฒนาคน 2 ตำแหน่งที่สำคัญ คือ Technician และ Engineer ซึ่งผลที่ได้พบว่า มีบุคลากรที่มีความพร้อมในการพัฒนาทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้สถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ จะได้นำข้อมูลการคาดการณ์ที่ได้มาวางแผนในการพัฒนาร่วมกับการฝึกอบรมในหลักสูตรของสถาบันไทย – เยอรมัน ซึ่งเป็นหลักสูตรในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) ในช่วง 2.0 – 3.0 จำนวน 44 หลักสูตร ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ Mechanical, Electrical & Control และ Industrial Production ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 5 ปี (2017 – 2021)" ดร.ขัติยา กล่าว