กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กทม.
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมวัณโรคของกทม. ว่า ปัจจุบันวัณโรคเป็นโรคที่มีการแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งการรักษาก็มีการดื้อยา ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาที่จะทำให้หายขาดทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการรักษาวิธีเดิมคือ การจ่ายยาให้ และนำไปรับประทาน จะได้ผลเพียง 50 % เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับประทานยาที่จ่ายให้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคของกทม.มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีหลายประการ ได้แก่ 1. ภาวะโรคเอดส์ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องเป็นตัวการที่ให้เชื้อวัณโรคสามารถเกิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอดส์ได้ 2. กทม.เป็นเมืองใหญ่มีประชาชนหนาแน่น และชุมชนแออัดเป็นจำนวนมาก ทำให้การติดเชื้อวัณโรคมีโอกาสเป็นไปได้ง่าย 3. ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย ซึ่งหากการรักษายังคงเป็นลักษณะนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าเมืองไทยจะมีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก
สำหรับการประชุมในวันนี้ ทางคณะกรรมการ ได้มีการหารือเกี่ยวกับการขยายงาน DOTS (Directly Observed Treatment Short-course) คือการรักษาวัณโรคโดยวิธีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในการให้ยาและติดตามการรับประทานยาของผู้ป่วย ไปสู่โรงพยาบาลของสำนักการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งกทม.โดยศูนย์บริการสาธารณสุขได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี2541 และจะประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้เริ่มใช้ระบบ DOTS มาตั้งแต่ปี 2539 แล้ว ทั้งนี้จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายป้องกันและควบคุมวัณโรคในกทม. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับแผนงานควบคุมวัณโรคขององค์การอนามัยโลก โดยกทม.จะรับเป็นแม่ข่ายในการติดตามประสานงานกับโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการเดียวที่ทาง WHO เห็นว่าเป็นวิธีการที่สามารถรักษาโรคได้ผลดีที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยเอง ในการมารับยาและกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อไปว่า ทางคณะกรรมการฯ จะได้มีการประชุมติดตามการดำเนินการทุก ๆ 3 เดือน เพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ เพื่อหาทางปรับปรุงและแก้ไขต่อไป--จบ--
-นศ-