กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--แพนดิจิตัล ซิสเต็ม
การดำเนินงานแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์บ้านหนองมะค่า หมู่ที่ 9 ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีซึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงแพะและแกะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้ง เป็น "สหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะ-แกะ แปลงใหญ่ราชบุรี จำกัด" ขึ้น เพื่อใช้ระบบสหกรณ์เข้ามาเป็นกลไกในการทำการผลิตเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดและสามารถ ลดต้นทุนการผลิตได้ ภายใต้แนวทางการบูรณาการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับงานด้านปศุสัตว์อื่นต่อไป
ล่าสุด ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกรมฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานเมื่อวันก่อน พร้อมเปิดเผยว่า ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วร่วมกันเลี้ยงแพะในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ปศุสัตว์ แล้วจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดำเนินงาน
ทั้งนี้จากเดิมเกษตรกรจะเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง เมื่อมีระบบแปลงใหญ่จึงส่งเสริมให้เปลี่ยนมาเป็นระบบโรงเรือน และอาศัยขบวนการสหกรณ์เข้ามาช่วยในเรื่องการตลาด มีการรวมกันขาย ซึ่งทำให้สมาชิกขายแพะได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม โดยจัดให้มีการมีทำ MOU ในการขายแพะกับผู้ประกอบการตลาดด้านแพะและแกะอย่างครบวงจร
ในส่วนภารกิจของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่เข้ามาช่วยดำเนินการในการรวมกลุ่มของสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะแกะแปลงใหญ่ราชบุรี จำกัด นั้นทางสหกรณ์จังหวัดราชบุรีจะเข้ามาดูในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มให้มีการวางระเบียบในการอยู่ร่วมกัน การทำเรื่องระบบระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องของการสร้างกลไกในการรวมซื้อรวมขาย
"กรมส่งเสริมสหกรณ์จะเข้าช่วยดูเรื่องของการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจให้กับสหกรณ์ ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่มาประจำในพื้นที่เพื่อร่วมดำเนินงาน และเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดี มีการประชุมร่วมกันเพื่อร่วมวางระบบการเลี้ยง นับว่ามีความเข้มแข็งมาก ขณะเดียวกันส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก็เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยเหลือ เช่น กรมปศุสัตว์ จะช่วยดูเรื่องของอาหารสัตว์ที่ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อให้แพะมีความแข็งแรงเป็นไปตามความต้องการของตลาด" ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
สำหรับการจำหน่ายแพะนั้นทางสหกรณ์ฯ ได้ทำ MOU กับกลุ่มผู้เลี้ยงแพะและแกะ รวมถึงกลุ่มผู้เลี้ยงแพะในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 15 กลุ่ม เช่น กลุ่มสวนผึ้ง กลุ่มจอมบึง กลุ่มบ้านคา และกลุ่มป่าหวาย เป็นต้น มีการกำหนดแนวทางร่วมกันในการทำการตลาด เช่น ตัวเมียที่มีลักษณะดี เหมาะในการทำเป็นแม่พันธุ์ ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ขาย เพื่อป้องกันการขาดแคลนแพะพ่อแม่พันธุ์ในระดับประเทศในอนาคต
ทางด้านนายยศกร จุมพล ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงแพะแกะแปลงใหญ่ ราชบุรี จำกัด เปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะในระบบแปลงใหญ่ได้เริ่มกันที่การเลี้ยงให้อยู่เฉพาะในคอก ซึ่งเดิมจะเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่ง ขณะเดียวกันก็มีการใช้พืชอาหารสัตว์เข้ามาให้แพะกินภายในพื้นที่เลี้ยง ทำให้ต้นทุนต่อตัวต่อกิโลกรัมลดลงเหลือที่ 63 บาท ขณะเดียวกันก็มีการจัดการด้านการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี ทำให้แพะมีสุขภาพดีขึ้น ลดอัตราการตายหลังคลอดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่เข้าระบบแปลงใหญ่ ขายให้พ่อค้าทั่วไปได้กิโลกรัมละ 90-95 บาท หลังจากเมื่อรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ และระบบแปลงใหญ่แล้ว ก็สามารถขายได้กิโลกรัมละ 105-110 บาท ก็ทำให้ได้ราคาที่ดีชีวิตความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นตามมา
"การรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ทำให้สามารถต่อรองราคา ขณะที่สามารถลดต้นทุนการผลิต ด้วยมีการรวมซื้อปัจจัยการผลิตทำให้ได้ราคาที่ต่ำ และการรวมกันขายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าการต่างคนต่างเลี้ยงต่างคนต่างขาย ซึ่งก็คือผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของผู้เลี้ยงนั้นเอง และนี่คือข้อดีที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนของการเลี้ยงแพะแบบแปลงใหญ่ " นายยศกร จุมพล กล่าว