กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สพช.
สพช. เตรียมออกมาตรฐานอุปกรณ์เซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาเซลล์ ใช้กำหนดอุปกรณ์โซลาเซลล์ให้เหมาะกับการใช้งานในประเทศ ช่วยลดต้นทุนการนำเข้า พร้อมเตรียมตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานอุปกรณ์เซลล์แสงอาทิตย์ด้วย
ดร.วีระพล โมนยะกุล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้สนับสนุนให้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดค่ามาตรฐานระบบเชลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย โดยจะกำหนดค่ามาตรฐานอุปกรณ์ทั้งหมดของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น อุปกรณ์การควบคุมการประจุแบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ แบบอัตโนมัติ แบตเตอรี่ อินเวอเดอร์ มาตรฐานของระบบและโครงสร้าง เครื่องมือวัดพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งค่ามาตรฐานดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถกำหนดสินค้าที่นำเข้ามาใช้งานอย่างเหมาะสมกับประเทศ ในเรื่องอุณหภูมิและปริมาณแสงแดด ดร.วีระพล กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องกำหนดมาตรฐานระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของตัวเองขึ้นมา เพราะขณะนี้ไทยสั่งซื้ออุปกรณ์โซลาเซลล์มาจากต่างประเทศมาประกอบในประเทศ เกือบทั้งหมด ซึ่งอุปกรณ์จากต่างประเทศจะใช้มาตรฐานในการผลิตจาก IEC , CEC , ASTM ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานของประเทศแถบเมืองหนาว อุณหภูมิต่ำ อุปกรณ์แสงอาทิตย์จึงถูกออกแบบให้เข้ากับอุณหภูมิที่ต่ำ แต่ประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน มีอุณหภูมิสูง ไม่จำเป็นจะต้องออกแบบอุปกรณ์ตามมาตรฐานดังกล่าว โดยควรจะออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศมากกว่า และอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศที่เป็นเมืองหนาว หากมีการนำมาใช้งานในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน คุณภาพสินค้าอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ ตลอดจนออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศที่มีอุณหภูมิต่ำ ก็หมายถึงต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ดังนั้น หากประเทศไทยกำหนดมาตรฐานเอง จะทำให้ประหยัดต้นทุนได้มาก และยังเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศด้วย
“ถึงเวลาที่ไทยจะต้องกำหนดมาตรฐานของตัวเอง เพราะขณะนี้ไทยนำเข้าอุปกรณ์เซลล์ แสงอาทิตย์มากขึ้น และ สพช.เองกำลังจะสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาด 8 เมกะวัตต์ที่แม่ฮ่องสอน ถ้าค่ามาตรฐานดังกล่าวออกมาใช้งานได้ทัน จะสามารถประหยัดต้นทุนในการนำเข้าได้ถึงร้อยละ 80 และ หลังจากที่การศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดค่ามาตรฐานแล้วเสร็จ จะส่งให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมประกาศบังคับใช้ หลังจากนั้นจะจัดตั้งศูนย์ทดสอบอุปกรณ์เชลล์แสงอาทิตย์ขึ้นด้วยงบประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อทดสอบอุปกรณ์ที่นำเข้าว่าได้มาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดไว้หรือไม่” ดร.วีระพล กล่าว--จบ--
-สส-