กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนให้เตรียมพร้อมมือภัยพิบัติในช่วงอากาศแปรปรวน โดยจัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน จดจำหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานเพื่อประสานขอความช่วยเหลือ หมั่นติดตามข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝนและสถานการณ์น้ำ สำหรับประกอบกับการเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันอันตรายจากภัยพิบัติ พร้อมเข้าร่วมการฝึกซ้อมอพยพหนีภัย เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ความแปรปรวนของสภาพอากาศโลกและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ดังนี้ จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้งานยามฉุกเฉิน อาทิ เครื่องอุปโภคบริโภค อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เรียนรู้หลักปฏิบัติในการรับมือภัยพิบัติ โดยศึกษาข้อควรปฏิบัติ ข้อควรหลีกเลี่ยงของภัยพิบัติแต่ละประเภท วิธีป้องกัน แก้ไข การปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ การช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น วิธีใช้งานอุปกรณ์ดับเพลิง การเปิด – ปิดระบบไฟฟ้า ประปา และอุปกรณ์ถังก๊าซ จดจำหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานสำคัญ โดยเฉพาะหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาล สำหรับติดต่อแจ้งเหตุและประสานขอความช่วยเหลือ หมั่นติดตามข้อมูลที่เป็นประโยนช์ต่อการป้องกันภัย ทั้งสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน สถานการณ์น้ำ ระดับการขึ้น – ลงของน้ำในแม่น้ำ ระดับน้ำทะเลหนุน จะได้สามารถคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ภัยและเตรียมพร้อมรับมือพิบัติได้ทันท่วงที ตรวจสอบบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย มีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรง ไม่ต่อเติมอาคาร จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางเดินไม่จัดเก็บสิ่งของในบริเวณที่เสี่ยงต่อการล้มทับหรือตกหล่น ตัดแต่งกิ่งไม้และโค่นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการล้มทับ รวมถึงติดตั้งถังดับเพลิงไว้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวก วางแผนเส้นทางการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยเรียนรู้ จดจำเส้นทางหนีภัยไว้หลายๆ เส้นทางจุดนัดพบที่ปลอดภัยไว้หลายแห่งในทุกทิศทาง หากอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรเข้าร่วมกับฝึกซ้อมอพยพหนีภัยอยู่เสมอ เมื่อเกิดภัยพิบัติจะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย การปฏิบัติตนขณะเกิดภัย ติดตามข้อมูลสถานการณ์ภัย ตรวจสอบพยากรณ์อากาศเพื่อประเมินสถานการณ์ภัยและตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัย และคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด กรณีสถานการณ์รุนแรงและมีประกาศเตือนภัยให้อพยพ ควรรีบอพยพออกจากพื้นที่ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยในทันที โดยให้ความช่วยเหลือเด็กและคนชราก่อน การจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในถุงยังชีพประกอบด้วย เครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋องสำเร็จรูป น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค สิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต อาทิ เครื่องนุ่งห่ม ไฟฉายพร้อมถ่านแบบกันน้ำ วิทยุพร้อมถ่านสำรอง ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น นกหวีด เทียนไข เชือก ถุงพลาสติก กระดาษชำระ ด่างทับทิม สบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้า มีดพับ ที่เปิดกระป๋อง เอกสารสำคัญต่างๆ อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ บัตรประจำตัวผู้ป่วย บัตรประกันสังคม กรมธรรม์ประกันชีวิต ภาพถ่ายของคนในครอบครัว พร้อมสำเนาไว้หลายๆ ชุด โดยจัดเก็บไว้ในซองพลาสติกกันน้ำ เพื่อป้องกันเอกสารได้รับความเสียหาย รวมถึงหมั่นตรวจสอบเครื่องอุปโภคบริโภคในถุงยังชีพทุกๆ 6 เดือน หากหมดอายุให้เปลี่ยนใหม่ และจัดเก็บไว้ในบริเวณที่สามารถนำมาใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเมื่อเกิดสาธารณภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนเป็นไปด้วยความปลอดภัย