กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.43 เวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 7) ประจำปี 2543 ที่ประชุมสภา กทม. ได้มีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เก็บ ขน สิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย และเอกชนที่รับชำระค่าธรรมเนียมเก็บขน สิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยแทน กรุงเทพมหานคร พ.ศ…. พร้อมทั้งมีมติ แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติขึ้น จำนวน 19 คน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร 9 คน ฝ่ายสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 10 คน พิจารณากลั่นกรองร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุมสภากทม.พิจารณาในวาระสองและสาม และประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติต่อไป
นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เหตุที่จำเป็นต้องตราข้อบัญญัตินี้เนื่องจากกรุงเทพมหานครเห็นควรกำหนดมาตรการเพื่อการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ซึ่งกรณีการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของผู้ทำงาน สมควรกำหนดค่าตอบแทนแก่บุคคลที่ทำงานดังกล่าว โดยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานที่ต้องเสี่ยงภัย รวมทั้งสมควรกำหนดเงินเพิ่มที่จะจ่ายเพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีการทำงานโดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยควรมอบหมายให้เอกชนเป็นผู้รับชำระค่าธรรมเนียมแทนกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดค่าตอบแทนที่จะให้เอกชนดังกล่าว และโดยที่มาตรา 97 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติว่า การคลัง การงบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ ต้องตราเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้สมาชิกสภากทม. ได้มีการอภิปรายพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลมูลฝอยของกทม. โดยได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะติดเชื้อ บทลงโทษ กรณีที่มีผู้ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม บุคคลอีก 6 ล้านคนที่ไม่เสียภาษี และการเก็บค่าธรรมเนียมจากหาบเร่แผงลอย
ด้านนายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวชี้แจงว่า เดิมการเก็บค่าธรรมเนียมของกทม. ไม่ค่อยสำเร็จ เนื่องจากมีบุคลากรน้อย ระยะเวลาการเก็บ ตลอดจนข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของกทม. กำหนดให้เจ้าหน้าที่เก็บเงินเฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น ทำให้ไม่สอดคล้องกับเวลาที่ประชาชนอยู่อาศัย ทั้งนี้หากมีการแก้ไขข้อบัญญัติฯ แล้ว ระเบียบกรุงเทพมหานครก็จะถูกแก้ไขไปด้วย และขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ สำหรับบทลงโทษนั้นยังไม่มี เนื่องจาก พ.ร.บ.สาธารณสุขไม่ได้กำหนดบทลงโทษแก่บุคคลที่ไม่จ่ายค่าธรรมเนียมไว้ และที่ผ่านมามีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน เพื่อลดปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บให้ดีขึ้น จึงต้องแบ่งค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะของกทม. ให้กับคนงาน แยกเป็นให้คนขับรถขยะทุกคน ทำหน้าที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขนจากบ้านเรือน โรงงาน สถานที่ประกอบการอื่น ๆ ตามอัตราที่กำหนด โดยได้คิดค่าคอมมิชชั่นร้อยละ 5 อีก 20 % ให้กับพนักงานเก็บขนแยกเป็น 2 ส่วน 10 % แยกให้กับคนงานทุกคนที่มีเวลาทำงานครบ 80 % ต่อเดือนอีก 15 % ให้เป็นเบี้ยขยัน เฉพาะคนที่มีผลงานดี โดยเงินที่เก็บได้ต้องส่งเข้ากทม.ทั้งหมด และพิจารณาจัดสรรเงินแบ่งคืนสู่เจ้าหน้าที่เก็บขนขยะต่อไป--จบ--
-นศ-