กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเตรียมเสนอบอร์ดพิจารณาตั้งศูนย์ Strategic Talent Center (STC) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เลขาฯบีโอไอเผยผลส่งเสริมการลงทุนนโยบายคลัสเตอร์ ดึงภาคเอกชนชั้นนำร่วมมือสถาบันการศึกษาสร้างนักเรียนนักศึกษาสู่แรงงานคุณภาพ
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากนโยบายการขับเคลื่อนประเทศสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" รัฐบาลได้ออกนโยบายเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากผลการส่งเสริมการลงทุนในปีที่ผ่านมา มีโครงการในด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ดำเนินการส่งเสริมปัจจัยด้านแรงงาน เพื่อให้สามารถพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมรองรับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้ บีโอไอเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างกลไกให้บริษัททั้งไทยและต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมอบให้บีโอไอสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนและภาคการวิจัย บีโอไอจึงมีแผนจะจัดตั้งศูนย์บุคลากรทักษะฝีมือสูง (Strategic Talent Center: STC) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณา
สำหรับศูนย์บุคลากรทักษะฝีมือสูง จะมีหน้าที่ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากรที่มีทักษะฝีมือสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาคเอกชน บุคลากรที่มีทักษะฝีมือสูง สถาบันวิจัย/ สถาบันการศึกษา ตลอดจนประสานงานเรื่องการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า และใบอนุญาตทำงานให้แก่บุคคลที่มีทักษะฝีมือสูงจากต่างประเทศ
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บทบาทของบีโอไอมิได้มีเพียงการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่สร้างคุณค่าต่อประเทศเท่านั้น แต่ยังเน้นไปถึงการยกระดับพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยในปีที่ผ่านมา บีโอไอมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งมีเงื่อนไขให้ผู้ขอรับส่งเสริมต้องเสนอแผนความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อมด้านแรงงาน ซึ่งผลจากนโยบายดังกล่าวพบว่า มีโครงการลงทุนจำนวน 81 โครงการ ที่มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาผ่านโครงการต่างๆ เช่น ความร่วมมือแบบทวิภาคี แบบสหกิจศึกษา และโครงการ WiL หรือโครงการบูรณาการการเรียนกับการทำงาน Work-integrated Learning (WiL)รวมจำนวนนักศึกษาที่จะได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ความเชี่ยวชาญ จำนวนกว่า 870 คน
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันการศึกษามีหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษา ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ในหลากหลายสาขาวิชา เช่น เทคนิคไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิต สาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งเข้าร่วม อาทิ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาลัยพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี เป็นต้น