กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
(จากซ้าย-ขวา) นางสาวจรรยพร โกฏิมนัสวนิขย์ นางสาวนฤภร แพงมา และนายวิชชากร นันทัยเกื้อกูล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฝ่ายมัธยมศึกษา) มอดินแดง ตัวแทนเยาวชนประเทศไทย คว้ารางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด (Special Award) หรือรางวัลพิเศษจาก "มอนซานโต้" (Monsanto Company) บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านเกษตรเคมีและเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร หนึ่งในผู้สนับสนุนการประกวด โครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก The Intel International Science and Engineering Fair 2017 (Intel ISEF) ที่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศมาร่วมแข่งขัน ที่เมืองลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ด้วยผลงาน "สารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาปแร้ง ควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกในมะเขือเทศพันธุ์สีดา" ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พร้อมเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศได้นางสาวนฤภร แพงมา กล่าวว่า ทันทีที่ได้ยินเสียงประกาศว่าไทยแลนด์และชื่อโครงงาน รู้สึกดีใจเป็นที่สุด เพราะเวทีนี้เป็นการรวบรวมสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนกว่า 77ประเทศทั่วโลกมาร่วมประกวดแข่งขัน จึงมีโอกาสยากมากที่จะได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง การได้รางวัลนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจว่าผลงานที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปมากมาย ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ด้านนางสาวจรรยพร โกฏิมนัสวนิขย์ กล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากการที่พวกตนเห็นว่ามะเขือเทศเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออก แต่มะเขือเทศมักถูกโรคใบหงิกเหลืองคุกคาม จึงทำให้ผลผลิตเสียหายได้เกือบ 100% โดยโรคนี้จะเกิดจาก 3สาเหตุ คือ เชื้อไวรัส TYLCV ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา แมลงพาหะที่นำเชื้อไปสู่พืช และวัชพืชในแปลงที่เป็นแหล่งให้แมลงพาหะมาอาศัย โดยเฉพาะในระหว่างที่เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดแมลงพาหะบนต้นมะเขือเทศ แมลงพาหะก็จะไปอาศัยในวัชพืชแทน ส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการกำจัด ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พวกตนจึงต้องการหาสารจากพืชวงศ์ Compositae ที่มีการรายงานฤทธิ์ทางชีวภาพว่าสามารถกำจัดไวรัส แมลง และวัชพืช มาควบคุมการเกิดโรค TYLC ได้มาแก้ปัญหาดังกล่าว
นายวิชชากร นันทัยเกื้อกูล กล่าวต่อว่า "หญ้าสาบแร้ง" เป็นพืชที่เหมาะต่อการนำมาทำเป็นสารชีวภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าสาบแร้ง เนื่องด้วยมีสารที่สามารถควบคุมสาเหตุวงจรการเกิดโรคใบหงิกเหลือง (tomato yellow leaf curl) ในมะเขือเทศพันธุ์สีดา จึงได้ทำการทดลองทั้งในสภาพแปลงทดลอง และแปลงปลูกของเกษตรกร ผลการทดลองที่ออกมาก็สอดคล้องกัน คือ 1.แม้สารสกัดหยาบไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ แต่มีผลต่อการชะลอการแสดงอาการของโรค ต่อมาสามารถกำจัดแมลง โดยเฉพาะแมลงหวี่ขาวที่เป็นพาหะของโรค และ สุดท้ายสามารถกำจัดวัชพืช ส่งผลทำให้ผลผลิตมะเขือเทศสูงขึ้น ที่สำคัญสามารถลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกร จึงเป็นการช่วยลดต้นทุน รวมถึงอันตรายจากสารเคมี