กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก โดยปี 2559 ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 9.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า ไม่ต่ำกว่า 1.54 แสนล้านบาท ซึ่งส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูง มีการส่งออกปีละ 2.37 ล้านตัน มูลค่าข้าวหอมมะลิ 5.4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเพื่อยกระดับมาตรฐานข้าวไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น และสนองต่อนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรในการประชุมวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 มีมติเห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับข้าวไทยทั้งระบบ รวม 5 ฉบับ โดยเป็นการปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทย จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวไทย และมาตรฐานฟาร์ม GAP เมล็ดพันธุ์ข้าว และ ประกาศมาตรฐานข้าวสีไทย ขึ้นใหม่ จำนวน 1 ฉบับ
นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า "มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย จัดทำมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นเวลามากกว่า 14 ปี รวมทั้งมาตรฐานสินค้าข้าวทั้ง 3 ฉบับ (ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย และข้าวไทย) ได้ประกาศใช้มานานเกิน 5 ปีแล้ว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงการซื้อขายข้าวในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตให้ดีขึ้น และช่วยให้เกษตรกรไม่เสียเปรียบในการซื้อขายข้าว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยในการปรับปรุงมาตรฐานครั้งนี้ ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้าอีกด้วย
สาระสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐาน คือ การปรับปรุงเกณฑ์ความชื้นและคุณภาพการขัดสีของข้าวเปลือกโดยกำหนดความชื้นและคุณภาพการขัดสีของข้าวเปลือก ซี่งกำหนดความชื้นเป็น 2 ระดับ คือ ความชื้นข้าวเปลือกในการซื้อขาย 15 % และความชื้นข้าวเปลือกในการเก็บรักษา 14 % จากเดิมกำหนดเพียงค่าเดียว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่เสียเปรียบ เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อขายเป็นข้าวเปลือกสด ซึ่งมีความชื้นมากกว่าข้าวเปลือกแห้ง นอกจากนี้ยังมีการกำหนด % ข้าวเมล็ดแดงหรือข้าวปนให้เข้มข้นขึ้นเหลือเพียงไม่เกิน 1% เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รวมทั้งเพิ่มเติมวิธีการทดสอบการปนของข้าวอื่นในข้าวหอมมะลิ โดยวิธีการต้ม เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการทดสอบที่ใช้ต้นทุนต่ำลงและปฏิบัติได้ง่าย
ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรฐานฟาร์ม GAP เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยกำหนดจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวอื่นที่ปนได้ ให้มีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการช่วยลดต้นทุนการผลิต และยกระดับคุณภาพมาตรฐานการผลิตข้าวให้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มีมติเห็นชอบประกาศใช้มาตรฐาน "ข้าวสีไทย" เป็นมาตรฐานของประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาไทยไม่เคยมีมาตรฐานข้าวสี (Color Rice) มาก่อน โดยครอบคลุมข้าวเจ้าและข้าวเหนียวในกลุ่มที่มีสีม่วง/ม่วงดำ อาทิ ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวไรซ์เบอรี่ และกลุ่มที่มีสีแดง เช่น ข้าวสังข์หยดพัทลุง ข้าวหอมกุหลาบแดง และข้าวทับทิมชุมแพ (กข 69) เป็นต้น การจัดทำมาตรฐานข้าวสีขึ้นมาใหม่ครั้งนี้ เพื่อผลักดันการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าข้าว ซึ่งข้าวสี ถือเป็นสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพสูงหรือเป็นข้าวพรีเมี่ยม ถึงแม้จะมีปริมาณการผลิตไม่มากนัก เพียงปีละ 21,000 ตัน และมีพื้นที่ปลูกข้าวสีประมาณ 51,000 ไร่ แต่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น และขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวสีเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งตลาดภายในและต่างประเทศที่กำลังขยายตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก โดยมาตรฐานฯ ข้าวสีที่จัดทำขึ้นใหม่นี้ มีข้อกำหนดที่สำคัญ อาทิ ต้องมีสีและความยาวข้าวตรงตามพันธุ์ เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ต้องมีสีม่วงดำ ไม่ใช่สีแดงเข้ม ข้าวต้องมาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองจีเอพี (GAP) เป็นต้น
ด้านนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวเสริมว่า การปรับปรุงมาตรฐานข้าวทั้ง 4 ฉบับ ทั้งมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานฟาร์ม GAP เมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการประกาศใช้มาตรฐานใหม่ 1 ฉบับ คือ มาตรฐานข้าวสี ซึ่งคาดว่าจะลงประกาศใช้โดยลงในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในกลางเดือนมิถุนายนนี้ นับว่าเป็นการยกระดับข้าวไทยครบวงจรที่สำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวอย่างแท้จริง อาทิ เกษตรกร จะได้ยกระดับการผลิตข้าว รวมทั้งไม่เสียเปรียบในการซื้อขายข้าว ส่วนผู้บริโภค สามารถมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานข้าว รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าข้าวไทยในตลาดโลกด้วย