กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
"วิกฤตต้มยำกุ้ง" ในปี 2540 ที่ได้ชื่อว่าเป็นการล้มคะมำคว่ำกระจาดครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย ไม่ได้เพียงแต่สร้างความทุกข์ระทมให้กับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น แต่กับชนชั้นกลางที่ทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและครอบครัว ก็ถึงกับต้องกินข้าวทั้งน้ำตา เพราะชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่มองท้องฟ้าสดใส ก็กลับพบว่ามืดมนไปในชั่วพริบตา
เช่นเดียวกับ คุณณรัช ภัทรปุณณโชติ อดีตบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ผู้คลุกคลีกับด้านเศรษฐกิจโดยตรง เล่าว่าตนเป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมาก แม้ชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าวคนอาจจะมองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม โดยในช่วงเช้าของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เธอได้รับแจ้งจากเพื่อนร่วมงานว่าถูกแหล่งข่าวเรียกเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลโดยด่วน ซึ่งไม่ใช่แค่เธอคนเดียวแต่เป็นการเรียกพบทุกสื่อ แต่ก็พอจะประเมินสถานการณ์ได้อยู่บ้างว่าเกิดจากอะไร เนื่องจากช่วงนั้นมองเห็นการลงทุนเกิดขึ้นมากมายจากนักลงทุนสมัครเล่นที่ไม่ได้มีแม้แต่ความรู้การลงทุน แต่แห่ลงทุนตามเพื่อน พอลงทุนไปก็ได้กำไรมา 200-300 เท่า ก็ลงทุนต่อเนื่อง บางรายลงทุนในหุ้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหุ้นที่ตัวเองถือเป็นของบริษัทใด ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นการสะท้อนการลงทุนที่แท้จริง เพราะเป็นการเก็งกำไรทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในตลาดหุ้นมากกว่า และไม่ได้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ บางรายก่อหนี้สูง พอเกิดวิกฤตชีวิตก็จบเห่ โดยแหล่งข่าวเศรษฐกิจหลายคนก็เคยออกมาให้ข่าวแล้วว่าการลงทุนเช่นนี้เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่กำลังเพลิดเพลินไปกับการเปิดเสรีทางการเงิน จนลืมไปว่าเส้นทางแห่งการเป็นเสือตัวที่ 5 ของไทยจะเป็นไปได้จริงหรือไม่
ขณะนั้นยอมรับว่าทุกคนไม่คุ้นชินกับคำว่าวิกฤตหรือการลอยตัวค่าเงินบาทเลย เนื่องจากเศรษฐกิจถือว่ารุ่งเรือง ค่าเงินอยู่ที่ 25 บาท ต่อดอลล่าร์สหรัฐ แต่เมื่อรัฐบาลประกาศให้ไทยเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้ค่าเงินบาทลอยตัวไปอยู่ที่ 47 กว่าบาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้สถาบันการเงินต้องปิดตัวลง เธอต้องรีบดิ่งไปทำข่าวที่ธนาคารมหานคร และธนาคารศรีนคร ซึ่งพบว่าผู้คนแห่กันมาถอนเงินฝากอย่างถล่มทลาย จนถึงขั้นผู้บริหารสถาบันการเงินต้องเอาเงินสดออกจากคลังมาตั้งเป็นร้อยล้านบาท เพื่อสำรองให้ลูกค้าถอน ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยก็ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ค่าเงินเพื่อไม่ให้อ่อนค่าไปมากกว่านี้ ส่วนบริษัทบางแห่งที่แบกรับภาระไม่ไหวก็เกิดระบบการเออรี่รีไทร์ขึ้น และมอบเงินชดเชยให้ 40 เดือน นักลงทุนบางรายในตลาดหุ้นที่เจอถึงขั้นเอาปืนกรอกปากตัวเองก็มี คนที่เคยร่ำรวยก็ต้องมาเปิดท้ายขายของเพราะเป็นอาชีพที่จะสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ในภาวะวิกฤตเช่นนั้น นับเป็นเหตุการณ์อันเลวร้ายครั้งใหญ่ที่ได้เจอหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับการเปิดท้ายของของแล้วมองว่าดี เพราะมีการใช้กลยุทธ์เช่นนี้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
"แม้ว่าเราจะผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมาได้แล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังประมาทไม่ได้เพราะปัจจุบันเรายังเป็นบุคคลที่ร่วมใช้หนี้กับบุคคลในยุคนั้นอยู่ แต่ก็เริ่มเห็นการวางแผนทางการเงินของวัยรุ่นและผู้ที่เริ่มทำงานใหม่ๆ แล้ว ที่รู้จักการซื้อกองทุนและเก็บออม ซึ่งนี่จะสามารถเป็นเกราะป้องกันเราได้หากเกิดเหตุการณ์เช่นอีก แต่อย่างไรก็แล้วแต่ไม่ว่าจะเศรษฐกิจดีหรือไม่ก็ตามเราก็ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท" คุณณรัช กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน คุณนิพันธ์ สังขจันทร์ อดีตนักเรียนไทยที่ไปศึกษายังประเทศออสเตรเลีย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้อีกคน เล่าถึงประสบการให้ฟังว่า สมัยก่อนพ่อแม่นิยมส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งตนก็หวังว่าจะไปเรียนเพื่อชุบตัว กลับมาไทยจะได้ดูเท่ห์หรือหางานทำได้ง่าย จึงตัดสินใจขอที่บ้านไปเรียนภาษา 6 เดือนและตั้งใจว่าจะเรียนต่อปริญญาโทที่นั่น แต่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ที่รัฐบาลประกาศให้ไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นวันที่ตนกำลังจะไปแลกเงินดอลล่าร์พอดี ถึงกับเข่าอ่อนเมื่อพบว่าค่าเงินกระโดดจาก 25 บาท ไปเป็น 39 บาท ซึ่งจากที่คิดว่าจะได้ถือเงินไปเรียนจำนวนมาก แต่ตรงกันข้าม ซึ่งก็ถอยไม่ได้เพราะดำเนินการเรื่องเรียนไว้แล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่เรียนก็ติดตามข่าวที่ไทยไปด้วยก็ทราบว่าเศรษฐกิจย่ำแย่มาต่อเนื่องเพื่อนนักเรียนไทยบางรายต้องกลับประเทศเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียนต่อ แต่สำหรับพ่อแม่ของตนมองว่ากลับมาไทยก็ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ผู้คนตกงานเป็นเบือ เลยให้อยู่ต่อ และเลือกทำงานล้างจาน ก่อสร้าง และรับจ้างทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อมีรายได้ประทังชีวิต ทำให้รุ่นนี้เป็นรุ่นบุกเบิกของการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยในต่างประเทศ อยู่ไปอยู่มาก็กินเวลาถึง 3 ปี ช่วงนั้นเป็นมรสุมชีวิตมากราวกับว่าถูกสึนามิซัดถาโถมเข้ามา ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์เลยทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาชีวิตได้เลยจึงตัดสินใจอยู่เมืองนอกต่อและเรียนในระดับ ปวช.แทนปริญญาโท เพราะเงินไม่พอ แต่หลังจากนั้นมา 2 ปีให้หลังเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นค่าเงินเริ่มดีดกลับมาอยู่ที่30 บาท และด้วยประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้ทำให้เป็นคนวางแผนการเงิน ทุกวันนี้เมื่อได้เงินเดือนมาก็จะเก็บส่วนหนึ่งเป็นเงินสำรองไว้ และเก็บสำรองไว้อีกส่วนหนึ่ง พร้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ขณะเดียวกันสอนลูกให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุดไม่ประคบประหงม เนื่องจากหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเขาจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ส่วน คุณวีณา แลชาติ ผู้ชมนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!" เล่าให้ฟังว่าเธอจบการศึกษาปริญญาตรีคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการสื่อสารในปี 2535 จึงตัดสินใจไปทำงานในบริษัทประกันชีวิตตามเพื่อนเนื่องจากสาขาที่เธอเรียนมาหางานยากในช่วงนั้น ต้องช่วงชิงกับผู้ชายที่มีความสามารถกว่า แต่พอทำงานบริษัทประกันชีวิตได้พักหนึ่งก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางของเธอ ประกอบกับเห็นเพื่อนหลายคนทำงานในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเธอคิดว่าคงมีชีวิตที่ดีกว่า จึงตัดสินใจนำวุฒิปริญญาตรีไปเทียบ และเรียนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชในคณะบริหารธุรกิจ 3 ปี ควบคู่กับการทำงานที่เดิม จบออกมาเธอก็หวังแต่เพียงว่าเพื่อนจะฝากเข้าทำงานในตลาดหลักทรัพย์ได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไรแม้จะได้กลิ่นตุๆ ถึงเศรษฐกิจที่อาจไม่สู้ดีนัก และยังพอมีหวังอยู่บ้าง แต่แล้ววันรุ่งขึ้นเธอต้องมาฟังข่าวร้ายเมื่อพบว่าตลาดหลักทรัพย์ประกาศปิดตัวลง เธอรู้สึกเสียใจบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับหมดหวังในชีวิตเพราะก็ยังคงทำงานที่เดิม
หลังเกิดวิกฤตใหม่ๆ เธอยังไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรนัก แต่พอนานไปบริษัทต้องแบกรับภาระไว้มาก ทำให้ไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานเป็นเวลา 5 ปี แต่ยังโชคดีที่ไม่ปลดพนักงาน ซึ่งเธอก็ทำงานที่นั่นไปเรื่อยๆ และใช้ชีวิตแบบไม่ประมาท ทำให้พอมีเงินเก็บบ้าง แต่ไม่ได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็มาคิดได้ทีหลังว่ารู้สึกเสียดาย เพราะหลังเกิดวิกฤตที่ดินราคาถูกมาก แม้จะเป็นย่านธุรกิจอย่างอโศกก็ตาม เพราะเพื่อนเธอซื้อคอนโด 120 ตารางเมตรได้ในราคาเพียง 2 ล้านเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับปัจจุบันแทบจะซื้อได้เพียงไม่กี่สิบตารางเมตร เนื่องจากที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ช่วงนั้นหลุดจากการเก็งกำไรเจ้าของก็ต้องการโอนเพื่อจะนำเงินที่ได้ไปจ่ายให้กับสถาบันการเงิน เพราะดอกเบี้ยและภาษีมูลค่าเพิ่มขณะนั้นปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว และโดยส่วนมากแล้วในช่วงปี 2535-2539 นักลงทุนจะซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไร และนำไปขายต่อเป็นทอดๆ ซึ่งแต่ละทอดราคาก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่นี่ก็ไม่ได้ถือเป็นโศกนาฏกรรมของชีวิตเท่าไหร่นัก แต่ได้บทเรียนที่ว่า เมื่อก่อนมองว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อเจอวิกฤตทำให้รู้ว่ามันคือเรื่องใกล้ตัวมาก จนทำให้ทุกวันนี้นำประสบการณ์เหล่านี้ไปถ่ายทอดลูกหลานและมองโลกในแง่บวกเพื่อให้เตรียมรับมือกับการใช้ชีวิตได้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุก
ขณะที่ คุณชรรร ลันสุชีพ นักจัดการความรู้ มิวเซียมสยาม ที่ในช่วงวิกฤตอายุประมาณ 10-11 ขวบเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังเด็ก และโตมากับครอบครัวที่เรียกว่าพร้อมจ่ายให้ลูกทุกอย่าง เนื่องจากคุณแม่เป็นทนายความให้บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่งทำให้ฐานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี ลูกค้าบริษัทที่คุณแม่ทำงานอยู่เยอะมาก วันๆ นึงสามารถขายเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะโทรทัศน์ได้เป็น 100 เครื่อง จนผลิตแทบไม่ทัน เปอร์เซ็นต์การเบี้ยวหนี้ก็น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย แต่แล้วเมื่อถึงช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2540 ความวิบัติก็เกิดขึ้นเพราะพนักงานในบริษัทเริ่มทยอยลาออก ลูกค้าเริ่มเบี้ยวหนี้ หนี้เสียก็มากขึ้นทุกวัน ทำให้คุณแม่ต้องทำเอกสารฟ้องร้องมากขึ้น จนเกิดความเครียด แต่คุณแม่ก็ไม่เคยเล่าให้ฟัง แล้ววันนึงคุณแม่ก็ได้รับโทรศัพท์จากเจ้านายที่โทรมาถามถึงความคืบหน้าของการดำเนินคดีลูกค้าว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรู้สึกแปลกใจที่เจ้านายถามทุกเคสแทนที่จะถามเพียงบางเคสเท่านั้น แล้วทิ้งท้ายก่อนวางสายว่า "ฝากงานด้วยนะ" ซักพักนึงได้รับโทรศัพท์จากเลขาของเจ้านายว่า เจ้านายผูกคอตายแล้ว ก็รู้สึกอึ้งถึงกับพูดไม่ออก
ส่วนตัวของคุณชรรรเองแรกๆ ก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะขออะไรคุณแม่ก็จะซื้อให้หมด แต่พอช่วงมัธยมศึกษาคุณแม่เริ่มให้ประหยัดและให้ใช้ของที่มีอยู่ไปก่อน ทั้งอุปกรณ์การเรียนและหนังสือจากที่เมื่อก่อนเคยขอได้ตลอด จนกระทั่งปี 2543 คุณแม่ตกงาน แต่คุณแม่ยังซื้อของให้และบอกว่าเป็นชิ้นสุดท้าย และนี่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตนกลายเป็นคนที่คิดก่อนซื้อว่าอะไรควรซื้อ ไม่ควรซื้อ หรืออะไรจำเป็น หรือไม่จำเป็น และถ้าไม่ใช่ค่าเทอมก็จะไม่ขอเงินจากแม่ จึงทำให้รู้สึกว่านี่แหละคือผลกระทบจากวิกฤตนี้ นอกจากจะทำให้สูญเสียบุคคลใกล้ตัวไป 1 คน ยังทำให้ขาดดุลทางชีวิตเพิ่มขึ้นไปอีก และคิดใหม่ว่าต่อไปควรศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจบ้างจากที่นั่งดูเฉพาะการ์ตูนอย่างเดียว ไม่งั้นจะกลายเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อม และอยากให้เป็นอุทาหรณ์ของครอบครัวอื่นว่าหากเกิดปัญหาอะไรควรจะระบายให้กับคนในครอบครัวฟังบ้างเพื่อจะได้ช่วยกันหาทางออก จะได้ไม่ต้องแบกรับภาระไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น พร้อมมองว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาจะไม่มีทางลืมวิกฤตนี้ เพราะจะนำมาเป็นบรรทัดฐานการเงินของโลก เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคประธานาธิบดีโดนัลทรัมป์
นี่เป็นประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดโดย 4 บุคคลซึ่งผ่านช่วงเวลาอันโหดร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทย ในงาน "ตลาดนัดคนเคยรวย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน" ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจเคยเจอมรสุมชีวิตจากเหตุนี้ ดังนั้นไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต ซึ่งหากไทยไม่ได้นโยบายอเมซิ่งไทยแลนด์เข้ามาช่วย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐจะนำออกมาบังคับใช้ในปี 2542 แต่ต้องเข็นออกมาใช้ก่อนในปี 2540 เพื่อก่อให้เกิดการดึงเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทยเพื่อให้ได้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ แต่ถึงกระนั้นเรื่อยมาจวบจนวันนี้เศรษฐกิจในปัจจุบันก็ยังขยายตัวไม่เท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน หากยังลงทุนหรือทำอะไรโดยไม่ศึกษา เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นอาจทำให้กลายเป็นบุคคลล้มละลายก็เป็นได้ จึงควรนำมหากาพย์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาปรับใช้เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชม "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน" ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 –18.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.facebook.com/museumsiamfan โดยสำหรับหน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษา เข้าชมนิทรรศการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 413