กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กบข.
ถือเป็นนโยบายที่ กบข. ยึดมั่นมาอย่างต่อเนื่องคือ "การแถลงผลประกอบการทุกไตรมาส" หรือทุก 3 เดือน เพื่อให้สมาชิกและประชาชนทั่วไปได้รับทราบและติดตามความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญนับเป็นการเปิดเผยข้อมูลตามหลักธรรมาภิบาลที่ กบข. ยึดถือปฎิบัติโดยตลอด
ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 1/2548 กบข. จึงได้จัดพิธีแถลงข่าวผลประกอบการ พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลสำคัญผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ทราบกันอย่างกว้างขวาง โดยสมาชิกติดตามได้ช่องทางการสื่อสารของ กบข. รวมถึงคอลัมน์นี้ กล่าวคือ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2548 กบข. มีสินทรัพย์สุทธิ 256,068 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุนสะสม 12 เดือนย้อนหลัง (เมษายน 2547 - มีนาคม 2548) มีมูลค่า 8,583 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ 4.03 ซึ่งสูงเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.00 และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.97
และเนื่องจาก กบข. เป็นกองทุนเงินออมระยะยาว ดังนั้นการพิจารณาผลตอบแทนที่ถูกต้องจึงควรมองผลตอบแทนในระยะยาวด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาผลตอบแทนการลงทุนสะสมย้อนหลัง 5 ปี (2543-2547) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.09 เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่งเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ร้อยละ 2.40 และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ร้อยละ 1.60 จึงนับว่า กบข. บรรลุเป้าหมายในการบริหารเงินออมระยะยาวของสมาชิกได้เป็นอย่างดี
หากเมื่อพิจารณาถึงจำนวนสินทรัพย์ทั้งหมด สมาชิกคงมีคำถามว่า เงินกว่า 2 แสนล้านบาท กบข. นำไปดำเนินการบริหารอย่างไรถึงได้ผลตอบแทนตามที่รายงานข้างต้น ผมขอกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ กบข. ให้ความสำคัญอย่างมากกับการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและทิศทางของตลาดเงินตลาดทุน ซึ่ง ณ ไตรมาส 1/2548 ได้จัดสรรการลงทุนแบ่งตามประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้ พันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 30.56 ตราสารหนี้อื่น ๆ ร้อยละ 25.77 เงินฝากธนาคารและตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารร้อยละ 21.05 ตราสารทุนร้อยละ 13.56 อสังหาริมทรัพย์และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ร้อยละ 4.97 การลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศร้อยละ 3.15 และการลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศร้อยละ 0.94 ซึ่งการบริหารพอร์ตการลงทุนโดยรวมนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบถึงภาวะเศรษฐกิจ และภาวะตลาดของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ อาทิ อุบัติภัยธรรมชาติครั้งที่รุนแรงมากที่สุด การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ตลอดจนปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น
นอกจากนี้ กบข. ยังได้เตรียมการด้านลงทุนเพื่อให้การปฏิบัติงานในอนาคตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจัดทำกรอบการบริหารความเสี่ยง (Risk Framework) เพื่อป้องกันความผันผวนต่างๆ และศึกษาถึงโอกาสการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สมาชิกได้อย่างรอบคอบด้วยความมั่นใจ ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกได้รับความพึงพอใจสูงสุดนั่นเอง--จบ--