กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--มทร.ธัญบุรี
ภาควิชาศิลปะการออกแบบเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดนิทรรศการการแสดงงานศิลปนิพนธ์ ภายใต้ Concept "UNSTRAP" By DO Idea 9 นำเสนอความรู้และความสามารถของนักศึกษาทั้ง 7 สาขาวิชา ได้แก่สาขาวิชาออกแบบภายใน, ออกแบบผลิตภัณฑ์, ออกแบบนิเทศศิลป์, ออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ, เครื่องหนัง, เครื่องปั้นดินเผา และหัตถกรรม นักศึกษาได้แสดงความรู้และทักษะวิชา เผยแพร่ความสามารถ เปิดตลาดอาชีพทางศิลปะ สู่การทำงานในอนาคต ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อริยา สุอังคะวาทิน คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในภาคเรียนที่ 2 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่านักศึกษาจะต้องนำความรู้ที่ได้จากกระบวนการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงชั้นปีที่ 4 มาประมวลองค์ความรู้ของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งล้วนมีความแปลกใหม่ ทั้งในรูปลักษณ์ กระบวนการสร้างสรรค์หรือตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน สังคมภายนอก โดยผลงานแต่ละผลงานไม่เพียงนำความรู้มาสร้างสรรค์ผลงานเท่านั่น แต่เป็นการนำความคิดนั้นมาถอดเป็นผลเรียนถ่ายทอดให้กับน้อง เพื่อให้รุ่นหลังจากศึกษาเป็นแนวทางในการต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการแสดงถึงความสามารถของนักศึกษาในการบริหารการจัดการงานแสดงอย่างเป็นระบบ การทำงานร่วมกัน แสดงถึงความมีน้ำใจ และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง
นางสาวอรนภา พรหมจาริน นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ เล่าว่า สำหรับผลงานที่ใช้ในการจัดแสดงภายในงานคือ "การออกแบบและพัฒนาโคมไฟจากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว" โดยการนำขวดพลาสติกที่เหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ในส่วนของตัวโคมดอก และนำวัสดุโลหะมาใช้เป็นโครงสร้าง โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกกุหลาบ มีการออกแบบให้มีความกึ่งเสมือนจริง เลียนแบบการเลื้อยของกุหลาบประเภทไม้เลื้อยและรูปแบบการโค้งงอของกุหลาบ ซึ่งตัวของโคมไฟ ให้แสงเหลืองนวลสร้างบรรยากาศอบอุ่นผ่อนคลายภายในที่พักอาศัย ใช้เป็นโคมไฟส่องสว่างและตกแต่งสถานที่เพื่อความสวยงาม
นายเมธัส ประจงจิตสกุล นักศึกษาสาขาวิชาหัตถกรรม เล่าว่า งานหัตถกรรมไทยได้รับนิยมอย่างหนึ่งของคนไทยและต่างชาติ ได้แรงบันดาลใจมาทำ "การศึกษาและพัฒนากล่องใส่เครื่องประดับลวดลายดอกรัก"ผลิตภัณฑ์กล่องใส่เครื่องประดับ โดยนำพระราชดำรัสเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีการนำของเหลือใช้มาต่อยอด โดยดอกรักตามประเพณีไทยมักจะใช้ร่วมกับดอกไม้อื่น ที่มีความหมายเป็นมงคล ในงานมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับความรักจึงได้นำมาพัฒนาเป็นกล่องใส่เครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เพื่อแทนความรักแก่ผู้ใช้งาน
นางสาวเบญจรัตน์ เอกสนธิ นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ เล่าว่า ออกแบบชุดราตรี โดยได้ได้แรงบันดาลใจมาจากการศึกษาศิลปะการประดิษฐ์พวงมาลัยไทย เนื่องจากพวงมาลัย เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ทำการศึกษาศิลปะการประดิษฐ์พวงมาลัยไทยประเภทชายเดียว ที่มีลักษณะของการร้อยที่แตกต่างกัน วัสดุที่ใช้ร้อยมีการร้อยในลักษณะสับหว่างกันจนเกิดเป็นพื้นผิวที่สวยงามของพวงมาลัยลวดลายของพวงมาลัยแบบดั้งเดิมจะนิยมใช้ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ซึ่งลายแต่ละลายจะมีการจัดวางวัสดุที่ใช้ในการร้อยแตกต่างออกไป ได้นำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบชุดราตรี โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้รูปแบบโครงร่างที่เรียบง่ายโดยเน้นเทคนิคในการตกแต่ง การถักเชือกแบบกลม การปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ในการตกแต่งแต่ยังยึดหลักของวิธีการร้อยพวงมาลัย การถักเชือกแบบแบนที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของพื้นผิวพวงมาลัยและยังคงไว้ซึ่งการปักลวดลายแบบดั้งเดิม
นางสาวพรสิรี พลายศรีโพธิ์ นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ เล่าว่า ได้ออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เลี้ยงแมวระบบปิด จากแผ่นไม้อัดตำแยแมว ได้รับแรงบันดาลใจมาจากModular คือชิ้นส่วนทุกชิ้น สามารถแยกหน่วยและนำมาประกอบรวมกันได้ ดีไซน์ของงานเน้นการออกแบบเพื่อตอบสนองพฤติกรรมการเล่นของแมว และได้นำต้นตำแยแมว ที่มีกลิ่นที่ดึงดูดแมวได้เช่นเดียวกับ Pheromone ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่ใช้ดึงดูดเพศตรงข้าม จึงทำให้แมวรู้สึกหลงใหลและเคลิบเคลิ้ม นำมาแปรรูปเป็นแผ่นไม้อัด เพื่อดึงดูดให้แมวเข้ามาเล่นในอุปกรณ์เลี้ยงแมวชิ้นนี้
ผลงานกว่า 135 ผลงาน สร้างสรรค์ขึ้นจากการประมวลความรู้ที่ได้เรียนมาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงชั้นปีที่ 4 เป็นผลงานชิ้นเดียวในโลก ขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกๆ ผลงาน