กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--ซีพีเอฟ
ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงจังหวัดสงขลา มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวให้มีความรู้รอบด้านเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง พร้อมช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาบุตรและสร้างรายได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำงานและการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน
นายอุสมาน ส่าเลาะ ผู้จัดการศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัวในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียงเข้ามาใช้บริการ 3,500 คน ในจำนวนนี้เป็นการให้ความช่วยเหลือ ให้ได้รับการดูแลและปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมและมาตรฐานสากล ให้ความรู้แรงงานได้เข้าใจสิทธิของตนเองและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น บุตรหลานแรงงานข้ามชาติได้รับการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายอาสาสมัครด้านแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น
สำหรับศูนย์ฯแห่งนี้ เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 โดยความร่วมมือกันระหว่าง 5 องค์กร ภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย องค์การสะพานปลา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในอาชีพประมงและครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละหน่วยงานมาผนึกกำลังกันช่วยขับเคลื่อนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ช่วยให้การแก้ไขปัญหาแรงงานประมงข้ามชาติ ป้องกันการใช้แรงงานเด็ก และสามารถดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นกว่าดำเนินการโดยหน่วยงานเดียวตามลำพัง" นายอุสมานกล่าว
สำหรับหลักการดำเนินงานของศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลฯ จะเน้นให้แรงงานข้ามชาติในอาชีพประมงมีความรู้ในเรื่องสิทธิ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความปลอดภัยในการทำงานบนเรือ และการดูแลสุขภาพ และศูนย์ฯ ยังให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม รวมถึงช่วยเหลือแรงงานที่เข้ามาร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากศูนย์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการได้รับค่าจ้างไม่เป็นไปตามข้อตกลง
ด้านการส่งเสริมสุขภาพอนามัยของแรงงานและครอบครัว ศูนย์ฯ ได้ช่วยดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่แรงงาน รวมคัดกรองผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังได้จัดคลีนิคเคลื่อนที่เพื่อให้บริการตรวจรักษาโรคแก่แรงงานและครอบครัวของแรงงาน ตลอดจนจัดการอบรมให้แรงงานและครอบครัวมีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพ และโรคติดต่อ
ศูนย์ฯ ยังได้สร้างความเข้มแข็งในกลุ่มแรงงานประมงข้ามชาติ โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาอาสาสมัครแรงงาน เพื่อสนับสนุนให้อาสาสมัครมีความรู้ด้านกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิ เพื่อให้แรงงานอาสาสมัครที่เข้าอบรม 24 คนได้คอยเฝ้าระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งสามารถให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่เพื่อนแรงงานข้ามชาติคนอื่นๆ เพื่อลดปัญหาการใแรงงานผิดกฎหมายและไม่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อป้องกันปัญหาโรคติดต่อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
ด้านการศึกษาของลูกหลานแรงงาน ศูนย์ฯ ได้จัดการเรียนการสอนให้กับบุตรหลานของแรงงาน ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย มีเด็กเข้าเรียน จำนวน 41 คนอายุ 4 – 13 ปี กว่าร้อยละ 80 ของเด็กที่เข้าเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ปัจจุบัน ศูนย์ฯ เพิ่มการสอนภาษากัมพูชา และการสอนดนตรีจากครูอาสา เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ อยู่ร่วมในสังคมได้ และเตรียมความพร้อมสำหรับเข้าเรียนโรงเรียนประถมศึกษาต่อไป ทั้งนี้ เด็กข้ามชาติจากศูนย์ฯ สามารถผ่านเกณฑ์และเมเข้าเรียนที่โรงเรียนเทศบาลนครสงขลา 1 ในปีการศึกษา 2560 ได้ 5 คน
นายอุสมานกล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้นำการประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์ฯในปีแรก ไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดกลยุทธ์แผนงานของปีที่ 2 ที่จะมุ่งเน้นทำงานเชิงรุกมากขึ้น มุ่งเน้น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.) การสร้างความรู้ความตระหนักในหน้าที่ของผู้ประกอบการ และสิทธิของแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการในจังหวัดสงขลามากขึ้น 2.) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน ทั้งสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน และที่อยู่อาศัย 3.) การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานแรงงานให้เข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย 4.)การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ โดยมีเป้าหมายให้แรงงานข้ามชาติและครอบครัวดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนไทยอย่างมีความสุข และได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้ เป็นหนึ่งโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อขจัดปัญหาแรงงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมประมงไทย แม้ว่าธุรกิจของบริษัทฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงเพียงเล็กน้อย ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือ หรือโรงงานปลาป่น ประกอบกับบริษัทฯ ยังได้ดำเนินนโยบายการจัดซื้อปลาป่นอย่างยั่งยืน โดยใช้ปลาป่นจากผลพลอยได้ (By product) ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาจากโรงงานแปรรูปที่ได้รับรองมาตรฐาน IFFO Responsible Supply./