กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--TK Park
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน ณ อาคารหมอกใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่างเป็นทางการ โดยหวังให้เป็นคลังความรู้และแหล่งปฏิรูปการเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่สามารถทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนรู้ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผ่านระบบการบริหารจัดการ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมและทันสมัยสอดคล้องกับการเรียนรู้ในยุค 4.0 ตลอดจนเป็นพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะและศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไกลสู่อนาคตต่อไป
นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวในพิธีเปิดครั้งนี้ว่า อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน เป็นเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้แห่งที่ 22 ที่เปิดให้บริการในรูปแบบ "ห้องสมุดมีชีวิต" อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค, TK Park) เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 จากนั้นได้ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ ทำให้เกิดใช้องค์ความรู้และทรัพยากรร่วมกันเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ชุมชน และสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน ถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ขนาดเล็ก ได้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่อาคารศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT แม่ฮ่องสอน มาเป็น "อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน" ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต โดยเพิ่มเติมในเรื่องของความคิด สร้างสรรค์ จินตนาการ นันทนาการ ดนตรี และกิจกรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เหมาะกับยุคสมัย และมีจุดเด่นสำคัญด้านไอที ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่จังหวัดห่างไกล ภูมิประเทศรายล้อมด้วยภูเขา การเดินทางค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา การพัฒนามาจากศูนย์ ICT เดิม ซึ่งมีระบบไอทีที่ดี จึงเป็นส่วนช่วยให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระบบห้องสมุดอัตโนมัติที่ ทีเค พาร์ค เป็นแม่ข่ายให้การบริการ ทำให้เด็กๆ เยาวชนและคนแม่ฮ่องสอนสามารถค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ ได้เท่าเทียมกับเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ
ทีเค พาร์ค ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านห้องสมุดมีชีวิต และให้คำปรึกษาแนะนำด้านกายภาพ สนับสนุนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมเชิงสาธิต และเรื่องของการบริหารจัดการ เพื่อให้อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเสริมสร้างและพัฒนาการแสวงหาความรู้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แข็งแกร่ง จะทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ พัฒนาคุณภาพการศึกษา การเรียนรู้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อเป็นรากฐานที่ดีในการพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อไป
นอกจากนี้ยังได้จัดทำสื่อสาระเพื่อการเรียนรู้ท้องถิ่นภาคเหนือ ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ หนังสือนิทานภาพ เรื่อง "สามฤดูในเมืองสามหมอก" ซึ่งได้รับเกียรติจากศิลปินชื่อดัง เทพศิริ สุขโสภา วาดภาพประกอบ ต่อมาเป็น เรื่อง "โตอ่อน" และ "เมืองในหุบเขา" หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ได้มีการจัดทำเป็น 2 ภาษาคือ ไทย และอังกฤษ
นายปกรณ์ จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ที่อาคารหมอกใหม่ ถนนขุนลุมประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 2,473.65 ตารางเมตร ถือเป็นอุทยานการเรียนรู้ขนาดเล็ก เหมาะสมกับบริบททางสังคมของแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นจังหวัดค่อนข้างเล็ก การพัฒนาจากศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ICT แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี การเข้าใช้บริการคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและการอบรมพัฒนาทักษะด้านไอซีทีของเยาวชนและประชาชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนมีจุดเด่นด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในอนาคตมีแผนส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยระบบเทคโนโลยี การเรียนรู้ทางไกลให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และเป็นศูนย์การถ่ายทอดความรู้ด้าน E-learning แก่สถาบันการศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
อุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 3 ชั้นประกอบด้วย ส่วนพื้นที่ให้บริการ ชั้น 1 เป็นห้องสมุดมีชีวิต (Reading Room) ให้บริการหนังสือ สื่อการเรียนรู้ กว่า 3,000 รายการ พร้อมสื่อการเรียนรู้มัลติมีเดียที่หลากหลาย ห้องเด็ก (Kids Room) ห้องส่งเสริมกิจกรรมเสริมทักษะและการเรียนรู้สำหรับน้อง ๆ เด็ก และเยาวชน ให้ได้สนุกในบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย ห้องเต้น (Studio Room) สำหรับผู้มีใจรักในการเต้น โดยขอเข้าใช้พื้นที่หรือร่วมเต้นไปตามตารางที่จัดไว้เพื่อเสริมสร้างสุขภาพด้วยการขยับร่างกาย ห้องติว (Study Room) บริการห้องสำหรับเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องอ่านหนังสือ ห้องติว ห้องบรรยาย-อบรมขนาดเล็ก รองรับผู้ใช้บริการได้ 8 – 12 คน และลานหมอกใหม่ (Mork Mai Space) จุดนัดพบของเด็ก เยาวชน ประชาชน และชุมชน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมนันทนาการ วิชาการและนิทรรศการความรู้หมุนเวียน
ส่วนพื้นที่ให้บริการ ชั้น 2 พื้นที่ของการรวมตัวกันของผู้ประกอบการด้านไอทีของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ อาทิ การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ กราฟิก เว็บไซต์ การตลาดออนไลน์ บรรจุภัณฑ์ ฉลากและโลโก้ เปิดให้บริการด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมพร้อมการจัดอบรมให้กับกลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจัดหางานให้กลุ่มนักศึกษา เพื่อส่งเสริมการมีงานทำระหว่างเรียน
สำหรับพื้นที่ให้บริการ ชั้น 3 ประกอบด้วย ห้องอินเทอร์เน็ตสีขาว (Good Net) บริการคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต ฟรี Wi-Fi ที่ปลอดภัย ด้วยการกลั่นกรองเว็บไซต์ที่เหมาะสมจนได้ชื่อเป็นห้องอินเทอร์เน็ตสีขาว ห้องสมุดไอที ดนตรี และภาพยนตร์ (E-tech and Library) บริการสื่อการเรียนรู้ด้านไอทีในรูปแบบหนังสือ นิตยสาร สื่อดิจิทัล มุมดนตรี และจัดฉายภาพยนตร์สำหรับเด็กๆ เยาวชน และประชาชน
ห้องอบรมคอมพิวเตอร์ (Training) บริการอบรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเสริมทักษะด้านไอทีอย่างน้อยเดือนละ 2 หลักสูตร ด้วยเครื่องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 40 ที่นั่ง พร้อมให้บริการห้องคอมพิวเตอร์สำหรับจัดอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ห้องประชุมและอบรมเล็ก (Smart Room) ห้องประชุมและอบรมกลุ่มย่อย รองรับ 15 ที่นั่ง นอกจากนี้ยังมี ICT Caf? มุมบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม
นายสุเทพ นุชทรวง ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความโดดเด่นหลายลักษณะ โดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และความหลากหลายของประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ดังนั้นระบบไอซีทีจึงมีความสำคัญในการเชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างและครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการเรียนการสอนที่ทัดเทียมระบบการศึกษาระดับประเทศ
ความร่วมมือกันของทุกภาคเครือข่าย ในการนำความโดดเด่นด้านการเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT แม่ฮ่องสอน มาเติมเต็มในด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ นันทนาการ ดนตรี และกิจกรรม ตามแนวคิด "ห้องสมุดมีชีวิต" ของอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) จึงตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนแม่ฮ่องสอนทุกเพศทุกวัยได้อย่างสมบูรณ์ครบทุกมิติ โดยตั้งเป้ารองรับเยาวชนและประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 1 พันคนต่อเดือน
ขอเชิญน้องๆ เยาวชนและประชาชนทั่วไป มาร่วมสนุกกับการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ในพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ที่ทันสมัยในยุค 4.0 ของอุทยานการเรียนรู้แม่ฮ่องสอนกันได้ทุกวัน เวลา 08.30 ถึง 21.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ