กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--บีโอไอ
"สมคิด" จัดทัพเยือนญี่ปุ่น สัมมนาใหญ่แจงศักยภาพไทยขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางอาเซียน บีโอไอ นัด 4 บริษัทถกลงทุน ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพ อุปกรณ์การแพทย์ รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เน้นกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมรับประเทศไทย 4.0
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ระหว่างวันที่ 4 – 8 มิถุนายน 2560 นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำคณะประกอบด้วย รัฐมนตรีและผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้านนั้น ในส่วนของการลงทุน บีโอไอจะร่วมมือกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุน (เจโทร) จัดงานสัมมนา "ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน" หรือ "Thailand Towards Asian Hub" เพื่อแสดงให้เห็นถึงการผลักดันของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 คน แสดงให้เห็นว่านักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญและสนใจต่อนโยบายของไทยเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้นายสมคิด จะกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "โอกาสในการลงทุน ยุคประเทศไทย 4.0" ส่วนตนเองในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลบีโอไอร่วมปาฐกถาในหัวข้อ "พลิกโฉมประเทศไทย 4.0" นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาเรื่อง "เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะร่วมบรรยายหัวข้อ "โครงการพัฒนาDigital Park Thailand และเมืองนวัตกรรมในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก"
รวมทั้งมีการอภิปรายในหัวข้อ "แนวโน้มและยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย (Japanese Companies' Investment Trend and Strategies in Thailand) โดยมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยมายาวนาน เช่น บริษัทฮิตาชิ โตโยต้า มอเตอร์ และ ยามาโมโต้ โฮลดิ้ง ร่วมแสดงความคิดเห็นและมุมมองต่อการลงทุนในประเทศไทย
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ บีโอไอยังจัดให้มีการประชุมหารือรายบริษัท (One on one Meeting) ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี กับ 4 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัทในกลุ่มสตาร์ทอัพ (startup) ซึ่งเป็นผู้นำในด้านการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีขั้นสูง บริษัทในกลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ บริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นด้วย โดยมั่นใจว่าหลังจากการหารือในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตต่างๆ ดังกล่าว ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในเร็ว ๆ นี้
"ไทยและญี่ปุ่น มีความใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในด้านการลงทุน ซึ่งผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ได้เข้ามาลงทุนครบทุกรายแล้ว และได้ช่วยดึงให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายสำคัญ และอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆ ตามเข้ามาลงทุนเพื่อป้อนให้ผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนมาก ดังนั้นหากเราสามารถดึงดูดให้บริษัทญี่ปุ่นใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับต้น ๆ ของโลก เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น บริษัทเหล่านี้จะเป็นแม่เหล็กช่วยดึงโครงการลงทุนอื่นๆ ตามเข้ามาในอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญของประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0" นายสุวิทย์กล่าว