กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "4 คำถามกับทิศทางอนาคตของประเทศไทย" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ คำถาม 4 ข้อ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เชิญชวนประชาชนร่วมตอบคำถามเพื่อรับทราบความเห็นและนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชน ร้อยละ 15.68 ระบุว่า มีความเป็นไปได้มาก ที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 24.40 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 34.48 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 9.28 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 5.12 ระบุว่า มีโอกาสเท่า ๆ กัน และร้อยละ 11.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
โดยในจำนวนประชาชนที่ระบุว่า มีความเป็นไปได้มาก – ค่อนข้างมาก ให้เหตุผลว่า คสช. ได้วางกรอบ และแนวทางในการทำงานไว้แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้มีการแก้ไขเพื่อคัดกรองและลดช่องโหว่ในการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง รวมไปถึงประชาชนมีความเข้าใจในประชาธิปไตยมากขึ้น และสามารถเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศได้ผ่านบทเรียนทางการเมือง มาพอสมควร ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงน่าจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้นกว่าเดิม
และในจำนวนประชาชนที่ระบุว่า มีความเป็นไปได้น้อย – เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ให้เหตุผลว่า นักการเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่รวมกัน และโกงกินเป็นเรื่องปกติ อยู่ที่ว่าจะโกงมากน้อยเพียงใด เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก กฎหมายและการบังคับใช้ไม่เด็ดขาด แม้แต่รัฐบาล คสช. ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และยังมองไม่เห็นตัวแทนจากประชาชนที่มีศักยภาพและ ความเหมาะสมที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ต่อให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนก็จะเลือกคนเดิม ๆ เข้ามา และก็จะนำไปสู่วังวนปัญหาเดิม ๆ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข หากภายหลังการเลือกตั้ง ประเทศได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล หรือได้กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามาบริหารงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.76 ระบุว่า ควรดำเนินตามข้อกฎหมาย และมีบทลงโทษที่จริงจัง และเข้มงวด เช่น ให้ลาออก ถอดถอนจากตำแหน่ง ตัดสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้จะใช้วิธีการชุมนุม คัดค้าน ลงรายชื่อ ถอดถอนตำแหน่งทางการเมือง หากมีความผิดมากก็ควรยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รองลงมา ร้อยละ 27.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าจะมี แนวทางแก้ไขอย่างไร ร้อยละ 11.28 ระบุว่า รัฐบาล หน่วยงาน หรือผู้ที่มีอำนาจควรรีบเข้ามาจัดการแก้ไขด้วยการปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหา การทุจริตคอร์รัปชัน หรือแก้ไขให้ตรงจุด หากไม่เป็นผลหรือมีบานปลายก็ควรใช้วิธีการยึดอำนาจ ร้อยละ 9.76 ระบุว่า ประชาชนทุกฝ่ายต้องคัดเลือกคนดีเข้ามา รวมไปถึงควรมีหน่วยงานหรือองค์กรช่วยกันตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง ร้อยละ 6.56 ระบุว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ร้อยละ 3.68 ระบุว่า ควรยอมรับและให้อยู่บริหารงานจนครบวาระแล้วรอการเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 3.60 ระบุว่า ควรให้โอกาสในการทำงาน หรือดูผลงานก่อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก การแก้ไขปรับปรุงของนักการเมืองและสถานการณ์
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อความที่ว่า "การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว โดยที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่น ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ของชาติ หรือการปฏิรูป" ว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.52 ระบุว่า เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกหรือสิ่งที่สำคัญที่สุด อนาคตของประเทศชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบหลายประการ ต้องทำอย่างอื่น เช่น การปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้านควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงอนาคตและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ควรปรับทัศนคติและความเข้าใจของคนไทยบางคนใหม่ เกี่ยวกับการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ควรเน้นไปที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏให้เห็นอยู่แล้วว่า หากเลือกคนไม่ดีเข้ามาทำงาน ปัญหาเดิม ๆ ก็จะตามมา ขณะที่ ร้อยละ 14.96 ระบุว่า เป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะควรเคารพสิทธิและเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ต้องเลือกผู้นำเข้ามาก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งประชาชนต้องคิดและไตร่ตรองในการเลือกคนที่ดีที่สุดเข้ามาบริหารประเทศอยู่แล้ว การเลือกตั้งและการทำแผนยุทธศาสตร์ หรือการปฏิรูปอื่น ๆ อยู่คนละส่วนกัน หากไม่เลือกตั้งก่อน ประเทศอาจจะแย่ลง และที่ผ่านมา ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ ยังไม่เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม อนาคตประเทศน่าจะดีกว่านี้ ถ้าหากมีการเลือกตั้ง และร้อยละ 11.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้โอกาสกับกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี กลับเข้ามาสู่ การเลือกตั้งอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.28 ระบุว่า ไม่ควร เพราะ นักการเมืองที่ไม่ดี หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรได้รับอำนาจให้กลับเข้ามาทำงานอีก หากใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศ และความวุ่นวายตามมา ประเทศชาติก็จะไม่ก้าวหน้า คนที่ไม่ดีอย่างไรก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ควรเอาผิดให้ถึงที่สุด ควรให้โอกาสนักการเมืองหน้าใหม่ ๆ เข้ามาบริหารประเทศบ้าง รองลงมา ร้อยละ 11.12 ระบุว่า ควร เพราะ ทุกคนย่อมได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัว และอาจจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนักการเมืองที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะดีไปหมดเสียทุกคน บางคนก็ยังไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง นักการเมืองบางคนอาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแต่อาจจะไม่มีความผิด และประชาชนแต่ละคนก็ชอบนักการเมืองไม่เหมือนกัน หากทำงานดี ก็อยากได้กลับเข้ามา บริหารบ้านเมืองอีกครั้ง ทั้งนี้ ควรให้ระยะเวลานักการเมืองในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย ร้อยละ 17.52 ระบุว่า ควรดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 2.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผู้ที่ควรจะเป็นคนแก้ไข หากกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้มีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้ง แล้วเกิดปัญหาซ้ำอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.28 ระบุว่า เป็นประชาชน รองลงมา ร้อยละ 27.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าจะเป็นใคร ร้อยละ 13.68 ระบุว่า เป็นรัฐบาล ร้อยละ 11.28 ระบุว่า เป็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือเป็นใครก็ได้ ที่มีอำนาจ ร้อยละ 11.04 ระบุว่า เป็นทหาร ร้อยละ 3.92 ระบุว่า เป็นองค์กรอิสระ คณะกรรมการกลาง หรือฝ่ายตรวจสอบต่าง ๆ เช่น ฝ่ายตุลาการ กกต. ปปส. ร้อยละ 2.08 ระบุว่า เป็นนักการเมือง/พรรคการเมือง และร้อยละ 3.68 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก อยู่ที่จิตสำนึก ของนักการเมือง และควรปล่อยให้เป็นตามกลไกการเมือง
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข หากกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้มีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้ง แล้วเกิดปัญหาซ้ำอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร รองลงมา ร้อยละ 31.04 ระบุว่า ควรดำเนินการตามขั้นตอน ภายใต้รัฐธรรมนูญและบังคับใช้บทลงโทษอย่างเคร่งครัด เช่น ให้ลาออก การปลดหรือการถอดถอนออก จากตำแหน่ง การยึดทรัพย์ ตัดสิทธิทางการเมืองไม่ให้กลับเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งอีก ร้อยละ 8.40 ระบุว่า ให้ยึดอำนาจโดยทำการรัฐประหาร ร้อยละ 7.68 ระบุว่า ประชาชนและทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันคัดกรอง ตรวจสอบความโปร่งใส ประวัติของนักการเมืองก่อนที่จะเข้ามาสู่การเลือกตั้ง และเลือกคนดีเข้ามาทำงาน ร้อยละ 6.40 ระบุว่า จะใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การชุมนุม การประท้วง การลงชื่อถอดถอน การกดดันให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงรับฟังเสียงข้างมากของประชาชนด้วย ร้อยละ 5.60 ระบุว่า ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาประเทศ เร่งปฏิรูปประเทศ พัฒนาชาติให้ก้าวไปข้างหน้า สร้างความรู้ความเข้าใจในหลักประชาธิปไตย และการเมือง สร้างค่านิยมและจิตสำนึกการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง และหน้าที่ของคนไทย ร้อยละ 1.44 ระบุว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากหรือแก้ไขไม่ได้เลย ร้อยละ 1.28 ระบุว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางการเมือง เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาแล้ว ต้องยอมรับให้ได้ เมื่อถึงวาระก็เปลี่ยนรัฐบาล และเลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 1.68 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ต้องใช้ระบบถ่วงดุลอำนาจ ทบทวนรัฐธรรมนูญและการใช้ระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศ และอาจใช้วิธีการเจรจา
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการเมืองไทยตามระบอบประชาธิปไตย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.68 ระบุว่า เป็นหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม และความโปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วม รองลงมา ร้อยละ 23.12 ระบุว่า เป็นสิทธิ เสรีภาพ ตามกฎหมาย และหน้าที่ของพลเมืองที่ดี ร้อยละ 12.72 ระบุว่า เป็นการเลือกตั้ง ร้อยละ 12.64 ระบุว่า เป็นรัฐธรรมนูญ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของบ้านเมือง ร้อยละ 10.40 ระบุว่า เป็นการปฏิรูปประเทศ ร้อยละ 2.48 ระบุว่า เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ร้อยละ 2.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับประชาธิปไตย การพัฒนาการศึกษา ความสามัคคี ความปรองดองของคนในชาติ และทุกข้อที่กล่าวมา และร้อยละ 4.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.88 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ตัวอย่างร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 58.24 เป็นเพศชาย ร้อยละ 41.52 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.24 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.64 มีอายุ 18 – 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 17.12 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.36 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.32 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 20.16 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.40
ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 93.52 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.12 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.96 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุศาสนา
ตัวอย่าง ร้อยละ 25.36 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 67.84 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.32 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 23.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.36 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.00 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 30.64 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.92 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.32 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.56 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 24.32 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.96 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.48 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.12 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.96 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 14.64 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.84 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 8.48 มีรายได้เฉลี่ย ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.92 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.12 ไม่ระบุรายได้