กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการตอบโต้การอุดหนุนสินค้าด้ายและผ้าผืน จากไทยโดยสิ้นเชิงแล้ว มีผลตั้งแต่มกราคม ค.ศ. 2000 เป็นต้นไป หลังจากใช้มาตรการนี้ต่อไทยถึง 24 ปี ด้วยการใช้เงื่อนไขในความตกลง SA ไทย-สหรัฐฯที่เข้มงวด คาดว่าต่อจากนี้ไปน่าจะขยายตลาดได้กว้างขึ้น แต่เตือนผู้ส่งออกให้ระมัดระวังเรื่อง ราคาจำหน่าย และการขอรับการอุดหนุนจากรัฐให้มากขึ้น
นายเกริกไกร จีระแพทย์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาได้ประกาศไต่สวน และเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนสินค้าเส้นด้ายและผ้าผืน (Certain Textile Mill Products) เป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 49 รายการ (พิกัดศุลกากร 5204.11-6302.51) ในอัตราร้อยละ 3.82 จากประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2527 และถ้าให้สหรัฐฯเรียกเก็บอากรตอบโต้ดังกล่าว อาจมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไทยจึงได้ยื่นขอทำความตกลงว่าด้วยการระงับการเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน (Suspension Agreement : SA) กับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2528 ถึงปี 2533
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการทำความตกลง SA ทำให้สหรัฐฯ ไม่เรียกเก็บอากรตอบโต้ในอัตราร้อยละ 3.82 แต่ข้อตกลงฉบับนี้มีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยผู้ส่งออกไทยจะต้องไม่รับหรือเป็นผู้ขอรับการอุดหนุนใด ๆ จากโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ และต้องรวบรวมข้อมูลระบุโครงการที่ไม่ได้รับการอุดหนุนสำหรับการส่งออกเสนอเป็นรายงานทุกไตรมาสให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ทราบ ทั้งนี้ โครงการอุดหนุนเพื่อการส่งออก คือ การชดเชยภาษีในรูปบัตรภาษี สิทธิประโยชน์จากบัตรส่งเสริมการลงทุนในรูปลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีอากร สินเชื่อเพื่อการส่งออกในอัตราพิเศษ การซื้อลดตั๋วสัญญาใช้เงินที่เกิดจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ค่าลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้า สิทธิพิเศษจากเขตส่งออกของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผลประโยชน์จากกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับการทำความตกลง SA ดังกล่าว ได้ทำขึ้นก่อนมีการเปลี่ยนจาก GATT มาเป็นความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) โดยสหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้กำหนดระยะเวลาการสิ้นสุด ในเรื่องนี้ประเทศไทยได้พยายามต่อสู้มาโดยตลอด และหยิบยกเรื่องขึ้นฟ้องร้องในระดับชั้นศาล และสู้กันถึง 3 ศาลด้วยกันคือ ศาลการค้าระหว่างประเทศ ศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา ซึ่งประเทศไทยไม่เคยชนะเลยในทุกศาล และมีผลทำให้สหรัฐฯใช้มาตรการกับสินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนของไทยติดต่อกันมาตลอด นับเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการค้าอันยาวนานของประเทศไทยกับสหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามความตกลงภายใต้ WTO กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินการทบทวนเพื่อยกเลิกการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Sunset Review) สินค้ารายการต่าง ๆ จากประเทศคู่ค้าทั่วโลกก่อนที่จะมีการสิ้นสุดการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าในปี 2543 (ค.ศ.2000) รวมทั้งสินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนจากประเทศไทย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 ใน Federal Register ให้มีการทบทวนเพื่อเตรียมการยกเลิกในปี พ.ศ.2543 หลังจากที่ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนการส่งออกของไทยตังแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา โดยขั้นตอนการทบทวนครั้งนี้ปรากฎว่า สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอของสหรัฐฯ (American Textile Manufacture Institute: ATMI) ซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ ยื่นขอให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ทบทวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้ต่อไป แต่เนื่องจากสมาคมผู้ผลิตสิ่งทอของสหรัฐฯไม่สามารถจัดส่งข้อมูลหลักฐานได้เพียงพอ(Substantive Response)ต่อการพิจารณา กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เห็นว่าอุตสาหกรรมภายในไม่ได้รับผลกระทบต่อความเสียหายจากการยกเลิกมาตรการตอบโต้ที่ผ่านมา จึงได้ประกาศใน Federal Register ยุติการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน สินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนจากประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป ซึ่งรวมเวลาที่ใช้มาตรการตอบโต้กับประเทศไทยถึง 24 ปี เต็ม ทั้งนี้ การดำเนินการของประเทศไทยที่ผ่านมาในการทำความตกลง SA มีข้อดีคือ เป็นการลดผลกระทบจากการที่สินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนของประเทศไทย ที่ถูกสหรัฐฯเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน โดยที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯได้รับการผ่อนผันจากการเรียกเก็บอากรดังกล่าว ยังผลให้ผู้ส่งออกไทยได้รับการลดหย่อนภาระที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกของตน และยังสามารถช่วยรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ในส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นภาระเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ส่งออกของไทยก็คือ การปฏิบัติตามความตกลงและต้องจัดส่งรายงานผลการปฏิบัติเป็นรายไตรมาส เช่น ตัวเลขการส่งออกไปสหรัฐฯ และรายละเอียดในการขอรับการอุดหนุนจากภาครัฐฯ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องดังที่ระบุตามความตกลง และในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องเพื่อพิสูจน์ว่าประเทศไทยมิได้ดำเนินการใด ๆ อันละเมิดความตกลงนั้นไปจนกว่าจะยกเลิกมาตรการดังกล่าว
อนึ่ง หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ยกเลิกการใช้มาตรการตอบโต้สินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนของไทยแล้วคาดว่าการส่งออกจะมีลู่ทางที่ดีและขยายตลาดได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรระมัดระวังในเรื่องการเสนอขายสินค้า โดยเฉพาะราคาส่งออกและราคาขายในประเทศ ตลอดจนการรับการอุดหนุนเพื่อการส่งออกด้วย เพื่อมิให้เกิดปัญหาเหมือนเดิม--จบ--