กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 25 จังหวัด รวม 70 อำเภอ 261 ตำบล 1,452 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,134 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) 8 จังหวัด รวม 36 อำเภอ 236 ตำบล 1,730 หมู่บ้าน 53 ชุมชน ทั้งนี้ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกและฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่างๆ โดยตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย 25 จังหวัด ได้แก่ พะเยา อุบลราชธานี ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร อุดรธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก สุราษฎร์ธานีพิจิตร ลำปาง เลย สระบุรี สุโขทัย นครราชสีมา บุรีรัมย์ จันทบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ นครปฐม สระแก้ว พังงา ชลบุรี และสุพรรณบุรี รวม 70 อำเภอ 261 ตำบล 1,452 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,134 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน8 จังหวัด ได้แก่ พะเยา พิษณุโลก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร อุดรธานี สุโขทัย นครศรีธรรมราช และสุพรรณบุรี รวม 36 อำเภอ 236 ตำบล1,730 หมู่บ้าน 53 ชุมชน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ทั้งการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคและน้ำดื่มสะอาด การดูแลสุขภาพอนามัย การจัดรถบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง การซ่อมแซมถนนและสิ่งสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ พร้อมกำชับให้จังหวัดเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังและพื้นที่ลุ่มต่ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงจัดหาพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ส่งผลให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกและฝนตกหนักบางแห่ง ปภ.จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป