กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น สังคมจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับต่อความต้องการในอนาคตและการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อให้เกิดเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้นำทางด้านธุรกิจเทคโนโลยี
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนากระบวนวิธีการทางธุรกิจ การประกอบการและนวัตกรรม ผสานองค์ความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้ากับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ตลอดจนการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สร้างกระบวนการเรียนรู้ในเชิงรุก สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง ประธานหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี ฟีโบ้ มจธ. กล่าวว่า "เริ่มจากเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ฟีโบ้ที่มีองค์ความรู้หลักด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็มีพันธมิตรที่มีความต้องการเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจ จึงเกิดการผสานความร่วมมือของพันธมิตร 4 หน่วย ได้แก่ มจธ. ภาคเอกชน ภาครัฐ และกลุ่ม Startup เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาที่สนใจทำธุรกิจเทคโนโลยี ได้ศึกษาพัฒนาและสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ ได้ลงมือทดลอง ปฏิบัติงานในสถานที่ที่ใช้งานจริง โดยมีบริษัทที่ให้การสนับสนุนเข้ามาร่วมพูดคุย สนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ นอกจากนี้ก็ยังมีภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจ เช่น โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการจัดการภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ (Talent Mobility) โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) และบัญชีนวัตกรรมไทยและสิ่งประดิษฐ์ไทย เป็นต้น เข้ามาให้คำปรึกษาในเรื่องการทำบัญชี เพื่อป้องกันกันการเกิดการเสียหายในแต่ละขั้นตอน ทำให้เกิดผลงานที่เกิด Impact ขึ้นในทันที และสามารถตอบโจทย์ได้จริง ไม่ต้องรอจนเรียนจบ โดยหลักสูตรนี้มีความยืดหยุ่นของเวลาเรียน ทำให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานที่มี Impact ต่อสังคม มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน"
นายภาณุพงศ์ จงสมจิตร (ฟิล์ม) นักศึกษาระดับปริญญาโท ฟีโบ้ กล่าวว่า "หลังเรียนจบปริญญาตรี ผม ร่วมกับ วัชระพงษ์ ปิงเมือง (เอ็ม) เปิดบริษัท เมล่อน เทคโนโลยี จำกัด และมีโอกาสได้เจอกับ ดร.ปราการเกียรติ และได้ชวนมาศึกษาในหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี จึงสนใจและตัดสินใจเรียนเพราะเห็นว่าหลักสูตรแบบสมัยใหม่ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการประกอบการ การทำแผนธุรกิจด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง นักศึกษาสามารถใช้ทรัพยากรของสถาบันที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่า สนับสนุนการสร้างผลงานโดยมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษาคำแนะนำอย่างใกล้ชิด"
วัชระพงษ์ ปิงเมือง (เอ็ม) นักศึกษาระดับปริญญาโท ฟีโบ้ กล่าวว่า "ทราบจากเอ็มซึ่งกำลังเรียนหลักสูตรฯ นี้ว่าทางสถาบันได้ให้การสนับสนุนเรื่องการหาพันธมิตรในการสร้างผลงาน มีทุนการศึกษาให้ จึงมีความสนใจและได้เข้ามาเรียน โดยได้ร่วมกับเอ็มทำโปรเจ็คเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการจ่ายยาในโรงพยาบาลที่ในปัจจุบันต้องใช้เวลาในการจ่ายยา ทำให้ผู้ป่วยที่มารับการรักษาต้องรอรับยาเป็นเวลานาน จึงหารือกันว่าจะทำหุ่นยนต์เพื่อจะเป็นการตอบโจทย์ให้กับความต้องการของทางโรงพยาบาล ช่วยดำเนินการจัดยา ตามคำสั่งจ่ายยาของเภสัชกรเพื่อทำให้การจ่ายยาดำเนินการได้สะดวก รวดเร็วขึ้น
ดร.ปราการเกียรติ เพิ่มเติมว่า "นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร ที่เป็นผู้ให้โจทย์เพื่อศึกษาให้เกิดผลงานนวัตกรรมเทคโนโลยี หรือเรียกว่า "ทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยี" จึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีนักศึกษามาเข้าร่วมในหลักสูตรนี้ ซึ่งได้มาจากการบอกต่อ ชักชวน การรวมตัวของคนที่มีฝีมือ เพื่อเข้าร่วมมีประสบการณ์"
หลักสูตรวิชาธุรกิจเทคโนโลยีจะมีการนำงานวิจัยทางด้านการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเชิง เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเรียนการสอน อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการประกอบการ การทำแผนธุรกิจเชิงเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสร้างสรรค์และเป็นผู้นำในด้านธุรกิจเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต