กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เร่งแก้ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ขาดทุนจนกระทั่งต้องปิดกิจการ โดยเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่มีหนี้เสียหรือเป็น NPL สามารถขอสินเชื่อเพื่อมาฟื้นฟูธุรกิจให้มีศักยภาพอีกครั้งผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี มูลค่า 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนพลิกฟื้นธุรกิจ 1,000 ล้านบาท และกองทุนฟื้นฟูธุรกิจ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะให้ความช่วยเหลือที่มากกว่าการให้กู้ยืม อาทิ การวางแผนธุรกิจ การทำบัญชี การสร้างช่องการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้เอสเอ็มอีได้ทั้งเงินลงทุนและความรู้ในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเชื่อว่ากองทุนเหล่านี้จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าสู่ระบบการเงินปกติได้โดยเร็ว และสามารถช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยรักษาอัตราการจ้างงาน และช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้นี้
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสภาวะปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในสถาบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้นและยังมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งในด้านโปรแกรมการช่วยเหลือทางด้านการเงินและโปรแกรมการพัฒนาต่าง ๆ ของกรมฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พัฒนาศักยภาพด้านการบริหารการเงิน การประเมินความเสี่ยงของการลงทุน การยกระดับธุรกิจด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา NPLของเอสเอ็มอี โดยเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่มีหนี้เสียหรือเป็น NPLสามารถขอรับสินเชื่อเพื่อมาฟื้นฟูธุรกิจให้มีศักยภาพอีกครั้ง ควบคู่กับการพัฒนาผ่านโปรแกรมต่าง ๆ ของกรมฯ และเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์เพื่อให้เอสเอ็มอีมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินทุนมาหมุนเวียนและสามารถนำกลับไปชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอจนพ้นจากการเป็น NPL ตลอดจนสามารถเข้าสู่ระบบการเงินปกติได้อีกครั้ง โดยการช่วยเหลือดังกล่าว ได้ดำเนินการผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี โครงการพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม 1,000 ล้านบาท และโครงการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการเป็นNPL ของธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยในเบื้องต้นได้มีการปล่อยอนุมัติเงินกู้ไปแล้วบางส่วน และอีกส่วนหนึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการให้กู้ยืม ซึ่งกองทุนดังกล่าวนี้มีเงื่อนไขไร้ดอกเบี้ย ในวงเงินให้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย กำหนดระยะใช้คืนภายใน 7 ปี ทั้งนี้ นอกเหนือจากการให้กู้ยืมแล้ว หน่วยงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจ โดยให้ความช่วยเหลืออย่างกว้างขวางที่มากกว่าการให้กู้ยืมเพียงอย่างเดียว เช่น การวางแผนธุรกิจ การจัดทำบัญชี การบริหารจัดการด้านต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ทั้งเงินลงทุน และความรู้ในการบริหารจัดการจนเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ เชื่อว่ากองทุนเหล่านี้จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าสู่ระบบการเงินปกติได้โดยเร็ว ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยรักษาอัตราการจ้างงาน และช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้นี้ ดร.พสุ กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี Call Center 1358 หรือเข้าไปที่ www.smessrc.com