กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รุกกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมเร่งจดประกอบกิจการโรงงาน เผยมาตรการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้จากข้อมูล 5 เดือนแรกของปี 2560 พบว่า 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจดประกอบและขยายกิจการโรงงานมากที่สุดคือ 1.อุตสาหกรรมอาหาร 2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 4.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะ/อุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ และ5.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดกิจกรรมลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานอาหารแปรรูปจีเอฟพีที อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็วๆนี้
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติการขออนุญาตโรงงาน (ร.ง.4) ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2560 มีการจดประกอบและขยายกิจการ 1,975 โรงงาน แรงงาน 82,610 คน มูลค่าการลงทุนรวม 167,283 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขอใบอนุญาต ร.ง.4 มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1.อุตสาหกรรมอาหาร 284 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 23,768 ล้านบาท 2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 186 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 7,327 ล้านบาท 3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 160 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 8,905 ล้านบาท 4.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะ/อุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 153 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 14,209 ล้านบาท และ5. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ 153 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 5,135 ล้านบาท
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญระดับสูงต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้จำนวนแรงงานมากที่สุด มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในบรรดาสาขาต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องอาหารและวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีความหลากหลาย แต่มูลค่าการส่งออกอาหารคิดเป็น 6-7% ของ GDP เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงระบบการผลิตให้มีการใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่ามากขึ้น นักลงทุนจะต้องหันมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงเทคโนโลยีด้านIT และนวัตกรรมที่ผลักดันและสนับสนุนรูปแบบของอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อให้เกิดศักยภาพในการปรับใช้ได้อย่างสูงสุดโดยไม่เกิดปัญหาขึ้นทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรเพื่อสร้างการทำงานที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวทางในการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม อาทิ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต อนุมัติเร่งให้มีความรวดเร็วมากขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve รวมถึงการช่วยแก้ไขกฎกติกาที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ พร้อมให้คำปรึกษาช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆ จำนวนมาก ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในไตรมาส ที่ 3-4 ของปี 2560 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์/ ผลิตภัณฑ์เคมี อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ/ผลิตภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเครื่องจักรและเครื่องกล ซึ่งมียอดการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี รวมถึงยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตและบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่ากับการลงทุน นายมงคล กล่าวสรุป
ด้าน นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม ประธานกรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงงาน GFPT ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ บนพื้นที่ 40 ไร่ เป็นโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และโรงงานแปรรูปปรุงสุก มีการชำแหละไก่ 150,000 ตัวต่อวัน และผลิตสินค้าแปรรูปปรุงสุก 24,000 ตันต่อปี ส่วนโรงงาน McKey มีกำลังผลิตสินค้าแปรรูปปรุงสุก 30,000 ตันต่อปี โดยที่ผ่านมามีการขยายกำลังการผลิตอย่างมาต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจเจริญเติบโตเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศไทยที่เชี่ยวชาญในการผลิตและส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปปรุงสุกจากเนื้อไก่ โดยในปี 2559 มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 16,693 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.ธุรกิจเนื้อไก่แปรรูป 7,209 ล้านบาท 2.ธุรกิจอาหารสัตว์ 3,908 ล้านบาท 3.ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 4,680 ล้านบาท และ4.ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป 896 ล้านบาท โดยมียอดส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ ปริมาณการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปรวม 99,776 ตัน และมีสัดส่วนการผลิตไก่เนื้อเป็นลำดับที่ 6 ของประเทศ (หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของกำลังการผลิตไก่เนื้อทั้งหมดของประเทศ) ซึ่งสินค้าส่งออกคือ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปปรุงสุก 82% เนื้อไก่สดแช่แข็ง 18% โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศในสหภาพยุโรปเป็นหลัก
และด้วยความต้องการเนื้อไก่แปรรูปที่เพิ่มขึ้นทำให้กำลังการผลิตสินค้าของบริษัท GFPT และ McKey ไม่เพียงพอ บริษัทฯ จึงได้มีการขยายโรงงานแปรรูปอาหารแห่งใหม่บนพื้นที่ 700 ไร่ ในตำบลทุ่งขวาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่
• โรงงานชำแหละเนื้อไก่และโรงงานแปรรูปอาหารของบริษัท GFPT (Phrase 1) เพิ่มกำลังการชำแหละไก่ 300,000 ตัวต่อวัน โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท
• โรงงานแปรรูปอาหาร GFPT (Phrase2) เพิ่มกำลังผลิตสินค้าแปรรูปปรุงสุก 24,000 ตันต่อปี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท
• โรงงานแปรรูปอาหาร McKey (Phrase 1 บนพื้นที่ 50 ไร่ ประมาณ 10,000 ตร.ม.) เพิ่มกำลังการผลิตสินค้าแปรรูปปรุงสุก 30,000 ตันต่อปี เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2560 รวมมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท
• โรงงานแปรรูปอาหาร McKey (Phrase 2: ขยายกำลังการผลิต) เพิ่มกำลังการผลิตสินค้าแปรรูปปรุงสุกอีก 30,000 ตันต่อปี รวมเป็นกำลังการผลิต 60,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมโรงงานจีเอฟพีที อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม แปรรูปอาหารที่มีการขยายกิจการโรงงานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเร็วๆ นี้ สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4014 หรือเข้าไปที่www.diw.go.th