กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ (6 มิ.ย. 60) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการ "โคบาลบูรพา" วงเงินรวม 1,028.40 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง และส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 ก.ค. 59 ใน จ.สระแก้ว เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ "โคบาลบูรพา" ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ โดยมีเป้าหมายพื้นที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ 103,823 ไร่ เกษตรกร 6,377 ราย โดยมีทั้งหมด 5 กิจกรรม ภายใต้วงเงิน 1,028.40 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) การเลี้ยงโคเนื้อ จัดตั้งธนาคารโคเนื้อ (เพศเมีย) จำนวน 30,000 ตัว และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อ (เพศเมีย) จำนวน 120,000 ตัว ใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท 2) การเลี้ยงแพะ จัดตั้งธนาคารแพะ (เพศผู้/เพศเมีย) จำนวน 3,200 ตัว และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแพะ (เพศผู้/เพศเมีย) จำนวน 27,200 ตัว ใช้งบประมาณ 13.20 ล้านบาท 3) การปลูกหญ้า/พืชอาหารสัตว์ เนื้อที่ 40,300 ไร่ ใช้งบประมาณ 80.60 ล้านบาท 4) การจัดตั้งโรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน GMP จำนวน 1 โรง งบประมาณ 34.60 ล้านบาท และ 5) การส่งเสริมแปลงใหญ่/การจัดตั้งสหกรณ์ "โคบาลบูรพา" จำนวน 1 แห่ง
สำหรับการดำเนินงานโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 6 ปี (2560 - 2565) แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยแต่ละระยะเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของเกษตรกรแต่ละราย ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ ในช่วงการปรับเปลี่ยนระยะแรก เกษตรกรจะมีรายได้จากการปลูกข้าวในพื้นที่เดิม และจากการขายมูลสัตว์ เมื่อครบกำหนดโครงการ (ปี 2565) เกษตรกรคืนโคเนื้อ (เพศเมีย) จำนวน 30,000 ตัว ให้ธนาคารโคเนื้อ และคืนแพะ (เพศผู้/เพศเมีย) จำนวน 3,200 ตัว ให้ธนาคารแพะ เพื่อขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้สำรวจความต้องการจากเกษตรกร รวมทั้งมีรายชื่อเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการแล้ว เป็นเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 6,106 ราย และเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 ก.ค. 59 ใน จ.สระแก้ว จำนวน 271 ราย และอยู่ระหว่างการคัดเลือก
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจำนวนโคเนื้อในประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากจำนวน 8 ล้านตัว เหลือ 4.8 ล้านตัว เนื่องมาจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า จ.สระแก้ว มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 2,340,093 ไร่ แต่มีพื้นที่ในเขตชลประทาน เพียงร้อยละ 10.4 ของพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะ อ.อรัญประเทศ อ.โคกสูง และ อ.วัฒนานคร มักประสบปัญหาภัยแล้งอยู่เสมอ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงมีฐานะยากจน ขาดเงินทุนในการพัฒนา/เปลี่ยนแปลงระบบการผลิตให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ แต่จุดแข็งของ จ.สระแก้ว คือ มีที่ตั้งพื้นที่เหมาะสม เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศกัมพูชาและเวียดนาม จึงมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้ออย่างครบวงจร
"การดำเนินการโครงการโคบาลบูรพา จ.สระแก้ว นอกจากเกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือฟื้นฟู ให้สามารถประกอบอาชีพปศุสัตว์ได้อย่างยั่งยืนปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มแม่โคเนื้อพันธุ์ดี เข้าสู่ระบบการผลิตโคเนื้อของภาคตะวันออก ตลอดระยะเวลาโครงการ รวม 120,000 ตัว เป็นฐานผลิตโคเนื้อต้นน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อ รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพเลี้ยงแพะ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ ผลผลิตมีราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดเวียดนามและลาว และที่สำคัญผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อโคที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีและสิ่งตกค้าง และ สร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศด้วย" พลเอกฉัตรชัย กล่าว