กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กระทรวงแรงงาน เดินหน้าส่งเสริมแนวปฏิบัติแรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP)หลังที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและประมงทะเลเชื่อมั่นใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าอย่างยั่งยืน เตรียมขยายสู่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงและอุตสาหกรรมอื่น
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่มีภารกิจหลังในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้ดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้นโยบาย Zero Tolerance
ที่มุ่งขจัดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาแรงงานต่างชาติ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงาน การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
ซึ่งแนวการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานหรือ Good Labour Practices : GLP เป็นเครื่องมือและเป็นกลไกที่สำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ GLP เป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่กำหนดหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรฐานแรงงานสากล โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมนั้น ๆ ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปอาหารทะเล นำ GlP ไปปฏิบัติใช้ด้วยความสมัครใจ ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการโดยมีอุตสาหกรรมสัตว์ปีก (ฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อการส่งออก) จำนวน ๓,๔๓๕ แห่ง และสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปอาหารทะเล จำนวน ๘๘ แห่ง นำ GLP ไปใช้ รวม ๓,๕๒๓ แห่ง ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานมากกว่า ๗๔,๐๐๐ คน และขณะนี้ได้ส่งเสริมและติดตามให้สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมประมงทะเลกิจการที่เกี่ยวข้องและฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งให้แสดงความมุ่งมั่นในการนำ GLP ไปใช้ในการจ้างงาน จำนวน ๒๔๐ แห่ง ซึ่งมีสถานประกอบกิจการแสดงความมุ่งมั่นแล้ว ๑๐๘ แห่ง
พลเอก ศิริชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานยังมีแผนที่จะขยายผลการนำ GLP ไปปฏิบัติยังพื้นที่ๆมีความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น ฟาร์มเลี้ยงสุกร ไร่อ้อย เป็นต้น สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีการจัดทำ GLP แล้ว ก็จะผลักดันให้จัดทำมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard: TLS.) เพื่อนำสถานประกอบกิจการไปสู่การบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน คำนึงถึงสิทธิแรงงาน ความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น